หอการค้าไทยเผยภาคธุรกิจกังวลปัญหาการเมือง

716
0
Share:

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Confidence Index) หรือ TCC-CI สำรวจความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 364 ตัวอย่าง ในเดือนต.ค.63 พบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 33.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.5
.
ปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ -7.7% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ -8.5%, รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา
.
ขณะที่ปัจจัยลบสำคัญที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนต.ค.นี้ ได้แก่ สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา, ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชนและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, ความกังวลจากสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในสินค้าไทยเพิ่มเติม อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, การส่งออกของไทยเดือนก.ย. 63 ลดลง -3.86 และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
.
ทั้งนี้ไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจมาแล้ว และมีสัญญาณที่เริ่มดีขึ้น จากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่งที่คาดว่า จนถึงสิ้นปีภาครัฐใช้เงิน 60,000 ล้านบาท แต่จะทำให้มีการใช้จ่ายเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจรวมประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท โดยประเมินว่า ปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะติดลบ 6-6.5% ภายใต้สมมุติฐานเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ติดลบ 4% – 5%
.
อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
.
1. มาตรการช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
.
2. รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทย
.
3. มาตรการกระตุ้นกำลังการซื้อของประชาชนในประเทศให้เข้าสู่ภาวะปกติ
.
4. จัดสวัสดิการและมาตรการช่วยเหลือให้กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุขให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น