หอการค้าไทย-จีน เผยสินค้าในไทยขึ้นราคาใน 1-3 เดือนนี้แน่ วิกฤตรัสเซียกระทบไทย

575
0
Share:

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2565

ผลการสำรวจพบว่า การเพิ่มขึ้นต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ หากเปรียบเทียบไตรมาสแรกของปี 2565 กับไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 พบว่ามากกว่า 78% ของผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อต้นทุนมากกว่า 10% ขึ้นไป (ประมาณ 52% ของผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต้นทุนระหว่าง 10-20%)

ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่า 10% มีอยู่ 22% เมื่อพิจารณาถึงการปรับราคาสินค้าจากการที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น และประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่ม

ผลการสำรวจพบว่า 88% จะต้องปรับราคาขึ้น โดย 53.9% คิดว่าจะขึ้นราคาภายใน 3 เดือน และมีมากถึง 33.9% คิดว่าจะปรับราคาขึ้นภายใน 1 เดือน มีเพียงเล็กน้อยที่คิดจะปรับราคาขึ้นหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว

เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ให้ข้อมูล 49% คาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดในปี 2556 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ขณะที่ 19% ในสัดส่วนที่เท่ากัน ที่คาดว่าเงินเฟ้อน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 กล่าวได้ว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับโอกาสพลิกฟื้นของเศรษฐกิจไทยนั้น นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มีการสำรวจทั้งประเด็นภายในประเทศและประเด็นจากต่างประเทศและประเด็นในประเทศ  โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 69 ยังมีความกังวลที่คนไทยส่วนหนึ่งยังไม่เข้าถึงการบริการและการรับวัคซีนที่เพียงพอ จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และร้อยละ 51.7 ยังมีความกังวลต่อการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน แม้ว่ามีแนวโน้มว่าเป็นโรคประจำถิ่น

ปัจจัยหลักจะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นในปี 2565 คือการกลับมาของนักท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลดลงของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ โควิด-19 มีความสำคัญเป็น 3 ลำดับแรก ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว มาตรการ Test & Go ที่เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม โดยให้มีแต่การตรวจด้วย RT-PCR และกักตัวระยะสั้น และตรวจซ้ำด้วยตัวเอง (ใช้วิธี ATK ในวันที่ 5 หลังจากมาถึงเมืองไทย) ได้รับคะแนนเห็นด้วยอย่างท่วมท้น 94.8 ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจัยอีก 3 ลำดับต่อมาที่มีความสำคัญใกล้เคียงกันคือ มาตรการการเยียวยาและการลงทุนจากภาครัฐ การแก้ปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และแนวโน้มการส่งออกที่ดี ขณะที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาคการเมืองในประเทศมีความสำคัญไม่มากเท่า

ด้านปัจจัยต่างประเทศที่กระทบต่อโอกาสเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวนั้น มีทั้งปัจจัยบวกและลบ กล่าวคือ ปัญหาหนี้สินของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค ผู้ตอบการสำรวจ 56.7% คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยพอประมาณ ขณะที่ 28.6% คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยมาก  ตั้งแต่ธันวาคม 2564 ได้มีการเดินรถไฟความเร็วสูงระหว่าง สปป. ลาว และจีน พบว่าจะเป็นการเปิดโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย โดย 28.6% ของผู้ตอบการสำรวจคิดว่าจะเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับประเทศไทยในการส่งออกสินค้า และ 39.3% คิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ขณะที่หนึ่งในสี่ของผู้ตอบการสำรวจคิดว่าน่าจะมีโอกาสแต่ยังค้นหาอยู่

ส่วนปัจจัยลบที่ต้องเฝ้าระวัง คือ สถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่รบกันแล้ว พบว่า 53.9% ได้แสดงความกังวลมากว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และที่36.5% มีความกังวลปานกลาง

การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน สรุปได้ว่า 13% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น มี 17.4% จะทรงๆ แต่ 63.5% คาดว่าจะชะลอตัวลง