หั่นตัวเลขขยายตัวเศรษฐกิจไทย 2 ปีติดกัน คาดปีนี้เหลือ 3% ชี้ชัดโตกระจุกกลุ่มเดียว

257
0
Share:
หั่นตัวเลขขยายตัว เศรษฐกิจ ไทย 2 ปีติดกัน คาดปีนี้เหลือ 3% ชี้ชัดโตกระจุกกลุ่มเดียว

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นจึงปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ ชะลอตัวลงจากเดิมที่ 3.3% มาอยู่ที่ 3.0% และในปี 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.5% จากเดิมที่ 3.7%

สำหรับปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ที่ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงสูง ซึ่งมีกำลังซื้อที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางการรอคอยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในไตรมาส 2 ปี 2567

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ทั่วถึง กำลังซื้อระดับล่างยังอ่อนแอ และถูกช้ำเติมด้วยปัญหาภัยแล้งและหนี้ครัวเรือนสูง มีเพียงเครื่องยนต์ด้านท่องเที่ยวที่ยังแข็งแกร่ง แต่การท่องเที่ยวไทยยังกระจุกตัวเพียงเมืองท่องเที่ยวหลัก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องจับตาเศรษฐกิจโลกและนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อองค์ประกอบของการคาดการณ์ GDP เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนของภาครัฐและเอกชน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยต่อไปว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ ประกอบด้วย ดังนี้ ภาวะ Decoupling โดยเศรษฐกิจสหรัฐและจีนแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงทั้งปัญหาสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี กระทบห่วงโซ่อุปทานและภาคการส่งออกของไทยและภูมิภาคอาเซียน

ภาวะ De-dollarization หรือการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ดอลลาร์สหรัฐยังเป็นสกุลหลักในการใช้จ่ายและชำระหนี้ต่างประเทศ แต่จะมีสกุลเงินอื่นโดยเฉพาะเงินหยวน (ใช่ในกลุ่ม BRICS) เข้ามาใช้ในระบบการเงินโลกมากขึ้น ถึงจะยังไม่สามารถทดแทนดอลลาร์สหรัฐฯได้ แต่ก็อาจส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนได้

ปัจจัยต่อมา คือ สถานการณ์ Dis-inflation หรือเงินเฟ้อต่ำ โดยเฉพาะจากจีนที่เผชิญปัญหาเงินฝืดช่วงเศรษฐกิจขยายตัวต่ำลง ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะกระทบนโยบายการเงินในภูมิภาคเอเชียให้ยิ่งแตกต่างกับสหรัฐฯที่ยังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง

รวมถึงยุค Digitization โดยเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งมาตรการรัฐในอนาคตจะออกมาในรูปแบบนี้มากขึ้น มีส่วนช่วยให้เกิดการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินด้วยเทคโนโลยี Blockchain แต่ SMEs และธุรกิจเล็กๆในต่างจังหวัดอาจไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีได้ทันรายใหญ่และอาจสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลใหม่น่าจะหาทางช่วยให้ SMEs เข้าถึงโครงการใหม่นี้ด้วย

ส่วนปัจจัยสุดท้าย คือ Democracy Movement หรือการแสดงออกทางการเมืองในประเทศ มีการเรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งอาจมีความเปราะบางทางการเมืองหรือเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นอีกก็เป็นได้จนกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน