หั่นเศรษฐกิจไทยปีมังกรฝืดเกือบ 1% เหลือแค่ 2.3% ชี้แบงก์ชาติทานแรงกดดันดอกเบี้ยไม่ไหว

209
0
Share:
หั่น เศรษฐกิจไทย ปีมังกรฝืดเกือบ 1% เหลือแค่ 2.3% ชี้แบงก์ชาติทานแรงกดดันดอกเบี้ยไม่ไหว

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMB THAI กล่าวว่า เปิดเผยว่า ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงจากเดิมที่ 3.1% มาเหลือเพียง 2.3% หรือลดลงถึง -0.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่ต่ำมากอีกปีหนึ่ง สาเหตุจากการบริโภคของไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และ การส่งออกฟื้นตัวช้า

การบริโภคของคนไทยมีสัญญาณอ่อนตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายโดยทั่วไปในการชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP เนื่องจากรายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า แม้ว่าการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาจะสนับสนุนการใช้จ่ายได้บ้าง แต่ยังกระจุกตัวแค่บางทำเล บางธุรกิจ ขณะที่ภาคการเกษตรอ่อนแอจากการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในบริการและสินค้าไม่คงทนเป็นการชั่วคราว แต่ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่อ่อนแอ

การลงทุนภาครัฐ เห็นชัดว่าการลงทุนภาครัฐทรุดตัวหนักกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า การใช้จ่ายงบต่างๆ ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นของเอกชน อาจทำให้เอกชนชะลอการลงทุน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่มีการกระจายเม็ดเงินสูง หากชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนักกว่าที่คาด

การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์มากจากการฟื้นตัวของตลาดโลก เพราะปัจจัยต่างประเทศมีความผันผวน ทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก กระทบการส่งออก และกระทบไปสู่การผลิตในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวเฟดอาจเลื่อนปรับดอกเบี้ยนโยบายจากพฤษภาคมเป็นมิถุนายน ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ส่งผลให้บาทอ่อนค่า

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น คาดว่าจะปรับลดเร็วสุดน่าจะเป็นเดือนเมษายน จาก 2.50% เป็น 2.25% และจะลดอีกครั้ง เหลือ 2.00% อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการพยุงชั่วคราว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังมีอยู่ เช่น ขาดการลงทุนจากต่างชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวน้อย การขาดทักษะแรงงาน สัมคงสูงอายุของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ในระยะยาว และไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงอยากเห็นมาตรการภาครัฐในการเร่งปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้