ห่วงหนี้มาก! แบงก์ชาติห่วงใยหนี้ครัวเรือนคนไทย ชี้ระบบการเงินไทยภาพรวมยังมีเสถียรภาพ

255
0
Share:
ห่วงหนี้มาก! แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ห่วงใย หนี้ครัวเรือน คนไทย ชี้ ระบบการเงิน ไทยภาพรวมยังมีเสถียรภาพ

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยรายละเอียดในบันทึกรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย ประจำไตรมาส 3 ปี 2566 ระบุว่า ระบบการเงินไทยในภาพรวมยังมีเสถียรภาพ แต่มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่ควรติดตามในระยะต่อไป คือ ความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลงของครัวเรือน และธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบาง โดยสถาบันการเงินจัดการได้และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด (NPL Cliff)

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมไม่ได้ด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยด้อยลงในกลุ่มเปราะบางเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธุรกิจเอกชนให้บริการเงินที่ไม่มีสถานะเป็นสถาบันการเงินแบบธนาคารพาณิชย์ หรือ Non-bank รวมถึงครัวเรือนรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่อาจปรับสูงขึ้นมากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่นๆ

คุณภาพสินเชื่อ ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงเปราะบางอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นสัญญาว่าอัตราการอนุมัติสินเชื่อชะลอลง โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีหดตัวจากการทยอยชำระคืนหนี้ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นและอาจระดมทุนได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดการเงินยังมีเสถียรภาพ การออกตราสารหนี้ใหม่โดยรวมยังคงทำได้ตามปกติ และความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องของ Non-bank บางรายลดลงจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ Non-bank ส่วนใหญ่ยังมีผลรายได้สะสม retained earnings เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงได้

ด้านเศรษฐกิจการเงินที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า คือ เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน รวมถึงความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศที่ขยายวงกว้างขึ้น เงินเฟ้อที่มีความเสี่ยงด้านสูงในปี 67 จากราคาพลังงานและอาหาร และจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจเร่งขึ้นในปีหน้า รวมถึงมาตรการภาครัฐเป็นแรงส่งในระยะสั้นเพิ่มจากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว แต่ต้องติดตามผลต่อตลาดการเงินในระยะต่อไป โดยเฉพาะต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อาจปรับสูงขึ้น หากมีการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น

สำหรับธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สินเชื่อภาพรวมชะลอลง เกิดจากการชำระหนี้สินเชื่อเอสเอ็มอีและภาครัฐ ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงเล็กน้อยจากการบริหารจัดการหนี้ ด้านผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ ปรับดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยหลักจากรายได้เงินปันผลตามฤดูกาล และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ตลาดการเงิน โดยรวมยังทำงานได้ตามปกติ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น และความเสี่ยงด้านเครดิตโดยรวมยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนการออกตราสารหนี้ใหม่ยังคงทำได้ตามปกติ แต่ยังต้องติดตามการระดมทุนและ roll over risk ของผู้ออกตราสารหนี้บางราย โดยเฉพาะกลุ่ม rating BBB และ กลุ่ม high yield ทั้งนี้ ยังไม่เห็นสัญญาณการไถ่ถอนกองทุนรวมที่ผิดปกติ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูง ขณะที่กองทุนรวมที่เน้นลงทุนสินทรัพย์ต่างประเทศมีสัดส่วนการลงทุนเงินฝากในจีนลดลง สะท้อนความกังวลต่อสถานการณ์ในจีน

ทั้งนี้ ความเสี่ยง digital asset ต่อระบบการเงินไทยอยู่ในระดับต่ำ จากความสนใจของผู้ลงทุนและธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำที่สะท้อนผ่านระดับราคาสินทรัพย์ดิจิทัลและปริมาณการซื้อขายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง