อธิบดีกรมวิทย์ฯ เผยฝีดาษลิงแพร่ทางอากาศมีน้อย ตรงข้ามกับข้อมูลศูนย์จีโนม

345
0
Share:

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษวานรว่า ขณะนี้มีการส่งสิ่งส่งตรวจมาให้กรมวิทย์ฯ ตรวจเพิ่มเติม 27 ตัวอย่างที่มีความเชื่อมโยงกับกรณีผู้ติดเชื้อชายไนจีเรีย โดยผลตรวจออกมาเป็นลบ ส่วนการตรวจสิ่งแวดล้อม อาทิ ลูกบิดประตู ผ้าปู ต่างๆ นั้นพบว่าผลเป็นบวก แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่า ที่เจอบวกนั้นสามารถแพร่เชื่อต่อได้หรือไม่ การติดเชื้อต้องมีความใกล้ชิดกันมากๆ ส่วนการสัมผัสต่างๆ นั้น โดยปกติผิวหนังคนเราจะมีมาตรการป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกายอยู่แล้ว ยกเว้นว่าบริเวณผิวหนังมีบาดแผล หรือตามเยื่อบุต่างๆ เช่น ตาจมูก อาจจะมีความเสี่ยงได้ แต่มาตรการ 2P ที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 นั้น สามารถป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ ทั้งการล้างมือด้วยสบู่ และสเปรย์แอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้มีการนำตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากแผลของผู้ติดเชื้อรายแรกในไทยมาเพาะเชื้อเพิ่มปริมาณ ก่อนนำไปทดสอบกับภูมิคุ้มกันของคนไทยที่เคยปลูกฝีดาษไปก่อนหน้านี้ ว่าสามารถป้องกัน หรือทำลายเชื้อฝีดาษวานรได้หรือไม่ เบื้องต้นเชื้อไม่ค่อยขึ้น ขึ้นช้า จึงต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่ง หากมีความคืบหน้ากรมวิทย์ฯ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ส่วนมีผู้ออกมาให้ข้อมูลว่า บางสายพันธุ์ของโรคฝีดาษวานรสามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่เชื้อทางอากาศ แม้แต่โรคโควิด-19 ที่ก่อนหน้านี้ออกมาบอกว่ามีการแพร่ทางอากาศ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ซึ่งไวรัสโคโรนาเป็น RNA ซึ่งมีขนาดเล็กมากด้วยซ้ำ ในขณะที่เชื้อฝีดาษวานรเป็น DNA ไวรัส ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า โอกาสกลายพันธุ์จะไม่เร็ว

ขณะที่เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ หรือ Center for Medical Genomics คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับการแพร่เชื้อทางอากาศของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษลิง มีดังนี้

ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดทางอากาศ หรือเป็น airborne diseases หรือไม่ หลายคนคงอยากทราบว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดทางอากาศ (airborne) ได้หรือไม่ คำตอบคือขึ้นกับสายพันธุ์ย่อยของไวรัสฝีดาษลิง

ไวรัสที่สามารถแพร่ระบาดทางอากาศได้ เช่น โรคสุกใส (Chickenpox) อาการเฝ้าระวัง มีไข้ ตุ่มน้ำใสทั่วตัว Fever with vesicular rash (fluid-filled blister) โรคหัด (Measles) อาการเฝ้าระวัง มีไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง มีผื่นแดงจากศีรษะไปทั่วตัว Fever with cough, coryza, conjunctivitis and maculopapular rash

สำหรับโรคฝีดาษลิงจากการประชุมของหน่วยงานในสหราชอาณาจักร ที่ดูแลเรื่อง “โรคติดเชื้อที่มีผลกระทบสูง” หรือ High consequence infectious diseases (HCID)
ได้สรุปตรงกันว่า ไวรัสฝีดาษลิง สายพันธุ์ “B.1” ที่ระบาดในยุโรปเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 เป็นไวรัสที่ไม่แพร่กระจายทางอากาศ (airborne diseases) และไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก เช่น ไนจีเรีย และแอฟริกากลางยังถือว่าสามารถแพร่ระบาดทางอากาศได้

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เรื่องการตรวจหาเชื้อนั้นมี พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ กำหนดให้ต้องมีการตรวจในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (แล็บ) เท่านั้น ดังนั้น ขณะนี้กรมวิทยฯ จัดทำประกาศเสนอให้ รมว.สาธารณสุข ลงนาม ในวันนี้เพื่อปลดล็อกให้โรคฝีดาษวานรสามารถดำเนินการตรวจได้ในห้องแล็บระดับ 2 ได้ แต่ก็ต้องมีการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยหรือจะเรียกว่า ระดับ 2+ (สองบวก) ทั้งนี้ เมื่อ รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศแล้ว ก็จะทำให้แล็บทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับ 2 หากจะตรวจหาฝีดาษวานรต้องมาทดสอบความสามารถในการดำเนินการจากรมวิทย์ฯ เพื่อให้การรับรองก่อน ส่วนที่มีการเปรียบเทียบฝีดาษวานรว่าเหมือนโรคอีสุกอีใสนั้น แม้เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางผิวหนังเหมือนกัน แต่ไวรัสคนละกลุ่มกัน มีความแตกต่างกัน