อธิบดีปศุสัตว์เผยขอเวลา 2 วัน ตรวจสอบโรคอหิวาต์แอฟริกา ยันรัฐไม่เคยปิดบังข้อมูล

489
0
Share:
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์กรมปศุสัตว์ ว่าสถานการณ์การควบคุมโรคในสุกร ในส่วนของการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับโรคนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันโรค ASF ไม่ให้มีการระบาดในไทย แต่เนื่องจากยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนป้องกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะพบโรค ASF

ซึ่งจากกระแสข่าวที่ว่าพบโรคนี้แล้วในไทย ได้ลงไปตรวจสอบในพื้นที่ ที่มีการเลี้ยงสุกรรวมถึงในจังหวัดภาคเหนือ และภาคใต้ เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง โดยใช้วิธีเก็บตัวอย่างในเลือดสุกร และโรงฆ่า ปรากฎว่าผลจากการตรวจสอบ 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง รวมถึงได้ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 5 ตัวอย่าง ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรอผลจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ  คาดว่าจะใช้เวลาในการรอผลตรวจไม่เกิน 2 วัน

ที่ผ่านมาเมื่อพบความเสี่ยงรัฐบาลอนุญาตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำลายสุกรทิ้งได้เลย โดยมีค่าชดเชยให้กับรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ลี้ยงสุกรรายย่อย ประมาณ 1,142 ล้านบาท และยังเตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มเติม ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อมาช่วยเหลือในส่วนนี้เพิ่มอีก 500 ล้านบาท

ซึ่งหากพบว่ามีฟาร์มที่มีโรคระบาดจะดำเนินการสอบสวนโรค และประกาศเป็นเขตโรคระบาด ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ หรือสัตวแพทย์ประจำอำเภอ จะดำเนินการกำหนดเขตควบคุมโรค หรือทำรายสัตว์ในรัศมี โดยในส่วนที่รัฐบาลจะมีเงินชดเชยให้

กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมปิดข่าวไม่ยอมชี้แจงเรื่องการแพร่ระบาด ASF นั้น ยืนยันว่ากรมมีการดำเนินการร่วมกันมาโดยตลอดทุกภาคส่วน และส่วนใหญ่ที่ตรวจเจอโรค ล้วนมากับผู้โดยสารต่างประเทศ จึงไม่อยากให้ประชาชนและเกษตรกรตื่นตระหนก เนื่องจากโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน แต่หากตรวจพบก็จะเร่งดำเนินการควบคุมโรคทันที

และกรณีภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2564 แจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร โดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever: ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามมาตรการเพื่อควบคุมโรคโดยเร็วนั้น

ขอยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป