อนุทิน ชาญวีรกูล’เล็งทดสอบวัคซีนต้านโควิดในมนุษย์ระยะที่ 1 ในไตรมาส 1/2564

1113
0
Share:

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของประชาชนไทยว่า “ทีมประเทศไทย” กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันเร่งรัดการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ใน 3 แนวทาง เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 สำเร็จแล้วประเทศไทยจะมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
.
โดยการดำเนินงานมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งการจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement), การเจรจาขอความร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากต่างประเทศ และการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ
.
และกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility (Expression of Interest)และมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ได้ รวมทั้งได้เจรจาความร่วมมือแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 ทั้งในเอเชียและยุโรป ซึ่งได้ดำเนินการไปพร้อมกับการเจรจาแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนไทยมากยิ่งขึ้น
.
ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สยามไบโอไซเอนซ์ เอสซีจี และแอสตราเซนเนกา ในการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนวิจัยป้องกันโควิด 19 ชนิด Adenoviral vector (AZD1222) ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 นอกจากนี้ ในการเจรจาตกลงแบบทวิภาคีได้ครอบคลุมถึงการเจรจาเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 และวัคซีนมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อให้ประเทศมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น หากการพัฒนาวัคซีนนั้นประสบความสำเร็จ
.
สำหรับการพัฒนาวัคซีนเองในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งหมด 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 มี 3 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
.
วัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด และวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช (Plant based) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งผู้วิจัยได้หารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนโควิด 19 อยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต (scale up pilot plant) เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ตามแผนที่วางไว้ ในไตรมาส 1/64
.
สำหรับการเตรียมการนำวัคซีนมาให้บริการ กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างติดตามผลการวิจัยวัคซีนแต่ละชนิด เพื่อทราบข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ข้อควรระวัง เมื่อมีวัคซีนที่วิจัยสำเร็จพร้อมจำหน่าย จะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณารับรอง และเตรียมคำของบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีน