ออโปรแกรมเยอะ! “นายกฯ เศรษฐา” เจรจาเยอรมนี ชงหนุนไทยเจรจา EU ขอยกเว้นวีซา “เชงเก้น”

122
0
Share:
โปรแกรมเยอะ! "นายกฯ เศรษฐา" เจรจา เยอรมนี ชงหนุนไทยเจรจา EU ขอยกเว้น วีซา "เชงเก้น"

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับนายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (25 ม.ค.) โดยนับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเยอรมนีครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี โดยไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี และเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป (EU) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน

รวมทั้งการพบกันระหว่างรัฐบาลไทยและเยอรมันในครั้งนี้ ได้มีการหารือข้อราชการระหว่างรัฐบาล รวมถึงการหารือระหว่างรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของเยอรมัน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

อีกทั้งเยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็น 50% ภายในปี ค.ศ.2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิต EV ในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรป เพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเก้นให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย โดยการเจรจายกเว้นการตรวจลงตรากับ EU นายเศรษฐาได้เริ่มเจรจากับผู้นำหลายรายเพื่อขอให้สนับสนุน เช่น อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนีมาก่อน รวมทั้งได้หารือกับนาย Alexander De Croo นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ในระหว่างการเดินทางเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อร่วมประชุม World Economic Forum ระหว่างวันที่ 15-19 ม.ค.2567

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการในห้วงเดือนมี.ค.2567เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป