อีอีซีคึกคัก ! ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนใหม่ในอีอีซีไทย มากที่สุดรวมมูลค่ากว่า 1,352 ล้านบาท แซงจีน ที่ 529 ล้านบาท

306
0
Share:

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : Eastern Economic Corridor (EEC) ประกอบด้วย เขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง การจัดตั้งธุรกิจใหม่ ในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 พบว่ามีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 1,834 ราย ทุนจดทะเบียน 4,667.53 ล้านบาท

โดยเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-ก.พ. 2565 จำนวน 1,452 ราย เติบโตเพิ่มขึ้น คิดเป็น 26.31% และมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 3,341.88 ล้านบาท คิดเป็น 39.67% โดย 74.21% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจำนวน 1,361 ราย

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัด (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) ในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 82,223 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,586,257.91 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการ คิดเป็น 60.75% รองลงมาคือการขายส่งขายปลีก คิดเป็น 24.58% และการผลิต คิดเป็น 14.68%

สำหรับ นักลงทุนต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC ภายใต้กฎหมายต่างด้าว เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 พบว่ามี 21 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 2,078 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของเงินลงทุนทั้งหมด และแบ่งเป็น

1. ญี่ปุ่น ลงทุน 7 ราย มูลค่า 1,352 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของเงินลงทุนใน EEC
2. จีน ลงทุน 5 ราย มูลค่า 529 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนใน EEC
3. ไต้หวัน ลงทุน 3 ราย มูลค่า 37 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของเงินลงทุนใน EEC
4. ประเทศอื่น ๆ ลงทุน 6 ราย มูลค่า 160 ล้านบาท คิดเป็น 8% ของเงินลงทุนใน EEC

ส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในนิติบุคคลไทยคิดเป็น 55.11% ของทุนทั้งหมด โดยสัญชาติญี่ปุ่นมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 45.42% มูลค่า 396,948 ล้านบาท รองลงมาคือจีน มีสัดส่วนคิดเป็น 14.30% มูลค่า 124,942 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีสัดส่วนคิดเป็น 5.61% มูลค่า 49,039 ล้านบาท โดยมีการลงทุนในจังหวัดระยองสูงสุดคิดเป็น 51.71%