อุตสาหกรรม จ่อควงดีเอสไอลงพื้นที่ตึก สตง. ถล่ม เก็บตัวอย่างเหล็กจากซากอาคารเพิ่มเติมพรุ่งนี้ หลังชงกรณี “ซินเคอหยวน” เป็นคดีพิเศษ รื้อ มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมชนิด IF

อุตสาหกรรม จ่อควงดีเอสไอลงพื้นที่ตึก สตง. ถล่ม เก็บตัวอย่างเหล็กจากซากอาคารเพิ่มเติมพรุ่งนี้ หลังชงกรณี “ซินเคอหยวน” เป็นคดีพิเศษ รื้อ มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมชนิด IF

นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้ (11 เม.ย.) เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมโดยทีมสุดซอย ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างเหล็กจากซากอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยจะจัดเก็บเหล็กในพื้นที่ทั้ง 4จุดทุกมุม เพื่อให้ได้ตัวอย่างเหล็กมากที่สุด ก่อนนำส่งตรวจสอบค่าทางเคมีและค่าทางกล ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าหารือและร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด ซึ่งจะเก็บตัวอย่างในส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหายจากการถล่ม เพราะต้องการเหล็กที่มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด โดยจะส่งตรวจที่สถาบันเหล็กฯ ส่วนการใช้แล็บกลางหรือไม่นั้น จะไม่เปลี่ยนที่ทดสอบ

ก่อนหน้านี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำทีมไปเก็บตัวอย่างเหล็กในพื้นที่อาคารสตง.ถล่มในวันที่ 30 มีนาคม 2568 เพื่อส่งทดสอบคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐานมอก.หรือไม่ ผลปรากฎว่ามีเหล็กเส้นข้ออ้อยตกมาตรฐาน มอก. 2 ไซส์ คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร มาจากบริษัทเดียวกัน คือSKY หรือบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่ของจีนที่ตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้น ที่บ้านค่าย จังหวัดระยอง

“ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงจากซินเคอหยวนว่าได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงแค่ว่า ไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเท่ากับกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อประชาชน เพราะประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยว่า มีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่น ๆ อีกหรือไม่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบหมายให้ สมอ. พิจารณาต่อไปว่าในกรณีนี้ถือว่าสามารถเอาผิดฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ส่วนเรื่องการครอบครองฝุ่นแดง 4.3 หมื่นตัน ที่ได้ทำหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ซินเคอหยวนเช่นกัน”

นอกจากนี้ ในส่วนของ มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็กนั้น นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมได้สั่งการให้สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต

ส่วนกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมานั้น ยืนยันอว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยข้อเท็จจริงคือ บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles