อ่านแล้วเพลีย! สื่อญี่ปุ่นนิกเคอิชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

556
0
Share:

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ซึ่งเป็นสื่อชื่อดังระดับโลก รายงานบทความพิเศษว่า ในขณะที่โลกกำลังเห็นแสงสว่างในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ปลายอุโมงค์ แต่มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวจากกรุงเทพกลับดูมืดมน

ประเทศจำนวนมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค กำลังมุ่งหน้าไปสู่การกลับมาเปิดเศรษฐกิจในปี 2565 และวงจรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของอาเซียนถูกมองว่าจะกลับมามีเศรษฐกิจเหมือนก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2566 มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในอีก 2 ปีข้างหน้าไม่ได้มาจากต่างประเทศ แต่มาจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

.

กลยุทธ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 ต้องเผชิญกับ 3 ปัจจัยลบที่สร้างความเสียหายยาวนานต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะมีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขจีดีพีเท่าไหร่ก็ตามในปีดังกล่าว ทั้ง 3 ปัจจัยลบ ได้แก่ ภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวถูกทำลาย เครื่องยนต์การบริโภคของประชาชนกระจัดกระจาย และหนี้ครัวเรือนมูลค่าสูงมากมาย

นิกเคอิ เอเชีย รายงานต่อไปว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 ในไทยตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา ยังส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูเหมือนจะมีเครื่องมือในการต่อสู้ หรือจัดการกับวิกฤตอย่างลำบาก

.

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องเผชิญกับการฟื้นตัวในลักษณะเหมือนตัวอักษร K อย่างทุลักทุเล เหตุผลก็คือ แม้ภาคส่งออกไทยจะฟื้นตัว แต่การท่องเที่ยวไทยไม่ฟื้นตัวอย่างที่หลายคนตั้งความหวัง

ภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวในลักษณะเหมือนตัวอักษร K หมายถึง การฟื้นตัวคู่ขนานแต่ผลการฟื้นตัวกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ในกรณีนี้ กลุ่มคนชั้นกลางค่อนไปทางสูง และคนรำ่รวยจะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น และคนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีฐานะตกต่ำลงอย่างชัดเจน

.

นิกเคอิ เอเชีย กล่าวว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่ยากลำบากนั้นมีความหยั่งลึกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งภาวะกึ่งวิกฤตเศรษฐกิจไทยได้เกิดขึ้นมาก่อนการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในไทย นับตั้งแต่ปี 2014 หรือในปี 2557 เป็นต้นมาโดยการเข้ามาบริหารของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประเทศไทยมีสภาวะทางเศรษฐกิจที่เปราะบางอย่างกระจัดกระจายเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น

ในสถานการณ์ของเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ ปี 2564 นิกเคอิ เอเชีย รายงานต่อไปว่า ผู้นำรัฐบาลไทยยังไม่ขจัดปัญหาขั้นตอนที่มีมากมาย การลงทุนในการศึกษา และการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Productivity) หรือต้องรักษาการแข่งขันให้เท่าทันกับการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย และประเทศเวียดนาม รวมถึงชาติอื่นๆ

.

นิกเคอิ เอเชีย มองว่าสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลไทยบริหารจัดการเศรษฐกิจไทยนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 มาถึงปัจจุบัน ได้ทุ่มลงไปกับการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากขึ้นเข้าไทย การขายสินค้าในต่างประเทศ และการดึงดูดเงินทุนต่างชาติมาสนับสนุนการบริโภคในครัวเรือนไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาถึงยุคปัจจุบัสนี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 3 ส่วนนี้ ถูกโรคระบาดโควิด-19 คุกคามทั้งหมด

ปัญหาหนี้ครอบครัวของประเทศไทยที่มีมูลค่าสูงมากมาย ผู้บริโภคชาวไทยกลายเป็นผู้บริโภคที่มีภาระมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย สะท้อนจากอัตราหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยพุ่งทะยานถึง 89.3% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีไทย อัตราหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่ระดับนี้ 89.3% ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเก็บสถิติเป็นครั้งแรกในปี 2546 หรือเมื่อ 18 ปีผ่านมา ที่สำคัญภาวะหนี้ครอบครัวคนไทยทะยานขึ้นจากระดับ 78.1% ในปี 2017 หรือปี 2559 มาเป็น 89.3% ภายใน 5 ปีผ่านมา

.

นั่นหมายถึง ครอบครัวไทยกำลังสะดุดจากวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 รอบที่ 3 ที่สร้างผลกระทบอย่างมากกับรายได้ และความมั่นใจของครัวเรือนไทย นอกจากนี้ แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ล้วนเป็นการตั้งรับอย่างชัดเจน มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของไทย อาจจำกัดวงของปัญหาไม่ให้ย่ำแย่ไปกว่านี้ แต่ไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาบนเส้นทางที่สว่างในปี 2566 และต่อไป

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ยังรายงานว่า สถานะประเทศไทยที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางรายได้สูงต่อหัวประชากร ซึ่งเฉลี่ยสูงกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงกว่า 32,000 บาทก่อนจะเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่ภายในปี 2566 จะมีใครทราบหรือไม่ว่ารายได้ประชากรต่อหัวจะเป็นอย่างไร ในเมื่อการบริโภคของภาคประชาชนคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจไทยที่ 502,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 16 ล้านล้านบาท

บทสรุปของสื่อนิกเคอิ เอเชีย ลงท้ายไว้ว่า นี่เป็นความเจ็บปวดที่ชัดเจนว่าประเทศไทยอาจจะไม่ยิ่งใหญ่ เมื่อไหร่ก็ตามที่วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ผ่านไป