นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เกษตรกรมีความหนักใจเกี่ยวกับความล่าช้าในการดำเนินคดีหมูเถื่อนที่ขณะนี้หยุดชะงักอยู่หลายคดี เช่น “คดี 161 ตู้” และ “คดี 2,385 ใบขน” ซึ่งแตกเป็นคดีย่อยอีกหลายคดี ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. โดยส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการไม่มีการประชุมติดตามงานใดๆ ในคณะทำงานฯ (คณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง) มานานกว่า 10 เดือนแล้ว จนเป็นเหตุให้การสืบสวนสอบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนการทำงานของ DSI – ป.ป.ช. ไม่คืบหน้า
นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศให้กลับมาประกอบอาชีพได้อย่างปกติสุข หลังบอบช้ำแสนสาหัสจากปัญหาหมูเถื่อน แต่ในช่วงเกือบปีมานี้กลับไม่มีการเรียกประชุมคณะทำงานฯเพื่อติดตามความคืบหน้าด้านการสอบสวนและแก้ปัญหาใดๆ จนทำให้เกษตรกรทั่วประเทศหนักใจ เกรงคดีล่าช้าจนเกิดความเสียหาย หรือนำไปสู่การทำลายหลักฐานของผู้ร้ายในขบวนการหมูเถื่อน ปัญหานี้หากถูกซ่อนไว้ใต้พรม เงียบหาย มันจะวกกลับมาทำลายเกษตรกรได้อีกในอนาคต
นอกจากนี้ การทำงานของกรมศุลกากรเองก็ยังไม่ได้รับการเปิดเผยในหลายประเด็น อาทิ การสอบสวนการยื่นขอเปิดเขตปลอดอากร (Free Zone) รวมถึงการตรวจสอบตู้ตกค้างในท่าเรือกรุงเทพและลาดกระบัง ตลอดจนเหตุผลที่ไม่มีการอายัดสินค้าในเขตปลอดอากรของผู้ต้องหา 2 บริษัทในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีที่โดนจับไปก่อนหน้า อีกทั้งยังไม่มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงในการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่อนุมัตินำเข้าสินค้าหมูเถื่อนที่สำแดงเท็จเป็นปลาแช่แข็ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรเพื่อขอให้สานต่อภารกิจของคณะทำงานฯ แล้ว ซึ่งคาดหวังการแก้ปัญหาที่รวดเร็ว รวมถึงการวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต เพื่อรักษาอาชีพของเกษตรกรทุกคน ภายใต้ศรัทธาและความเชื่อมั่นในกระบวนการทางกฎหมายของบ้านเมือง