เกษตรสวนยางสุดอ่วมขาดทุนนับแสนล้านบาท พิษราคายางพาราดำดิ่งหนัก แฉประกันรายได้ยาง

278
0
Share:
เกษตร สวนยาง สุดอ่วมขาดทุนนับแสนล้านบาท พิษราคา ยางพารา ดำดิ่งหนัก แฉประกันรายได้ยาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย หรือกยท. กล่าวว่าราคายางพาราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุจากเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยถึง 60% นั้น ประสบภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ จีนเผชิญอัตราหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขจีดีพี อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ผลกระทบเกี่ยวกับราคายางพาราตกต่ำมีเพียงราคาน้ำยางและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ลดลง แต่ราคายางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของไทยยังมีราคาทรงตัวที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เกษตรชาวสวนยางเผชิญความลำบาก เนื่องจากราคาน้ำยางพาราในแต่ละพื้นที่ลดลงต่อเนื่อง จากเดือนกรกฎาคมเคยอยู่ที่ 43 บาทต่อกิโลกรัม ตกต่ำมาเหลือเพียงกว่า 38 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลเกษตรกรชาวสวนยางขาดทุนจากต้นทุนการผลิต ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 63.40 บาท

เมื่อคำนวณจากปริมาณปลูกยางได้ปีละ 5 ล้านตัน นั่นหมายความว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะขาดทุนประมาณนับแสนล้านบาท เกษตรกรชาวสวนยางยังได้รับผลกระทบจากนโยบายโครงการประกันรายได้ ปี 2565-2566 เนื่องจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จ่ายไปเพียง 2 เดือน ก่อนจะอยู่ในสถานะรัฐบาลรักษาการ จากทั้งโครงการที่ต้องจ่าย 6 เดือน หรือตั้งแต่ตุลาคม 2565 ถึงมีนาคม 2566

สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจ่ายเงินประกันรายได้ราคายางล่าช้า ล้วนเป็นผลจากการบริหารจัดการ รวมทั้งมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ล่าช้า โดยไม่ได้คำนึงถึงปากท้อง แทนที่จะเอาใจใส่เรื่องปากท้องราคายางชาวบ้าน ล่าสุดมีเกษตรกรชาวสวนยางที่จ.น่าน 160 กว่าราย ที่ร้องเรียนเข้ามาที่สมาคมว่า ยังไม่ได้รับเงินประกันรายได้

นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า นโยบายการเก็บภาษีสวนยางโดยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ระบุว่า เกษตรกรที่ปลูกยาง 1 ไร่ อัตราการปลูก 80 ต้นขึ้นไป จะต้องเสียภาษี 0.15% ส่วนที่ปลูกน้อยกว่า 80 ต้นลงมา จะต้องเสียภาษี 1.2% นั้น แต่เดิมรัฐบาลไม่เคยเก็บภาษีประเภทนี้ ซึ่งเรื่องนี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกษตรกรจะปลูกยางตามกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 กำหนดอัตราที่ 25 ต้นต่อไร่ ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 1.2%

เมื่อ 5-6 เดือนผ่านมา สมาคมได้ดำเนินการร้องเรียนไปยัง กนย. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน แต่ยังไม่ตอบรับว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ถ้าเหลือ 25 ต้นต่อไร่ ชาวสวนก็จะยอมเสีย 0.15% ขอให้ช่วยเกษตรกรที่ขาดทุนมาทุกอย่าง และยังต้องเสียเงินเซสอีก กก.ละ 2 บาท แต่รัฐบาลกลับจะให้มาเสียภาษีสวนยางอีก หากไม่ได้รับการแก้ไข สมาคมจะฟ้องศาลปกครองแน่นอน