เกาะติดน้ำมันแพง! สนพ. เกาะติสถานการณ์น้ำมันตลาดโลกเดือน ก.พ. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

121
0
Share:

นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า  สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคา น้ำมันตลาดโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน รวมทั้งรายงานฉบับล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ขึ้นจากระดับร้อยละ 2.7 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.9 หลัง OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นส่งผลให้ OECD คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 อีกทั้งตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนหลังจากโรงกลั่นสหรัฐฯมีแผนเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังจากต้องปิดโรงกลั่นอย่างกระทันหันในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 4.6 ในปี 2567 และลดลงอีกในระยะกลางประมาณร้อยละ 3.5 ในปี 2571 นอกจากนี้โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทบีพีในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐฯ ประสบปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง และกำลังทำการปิดโรงกลั่นแห่งนี้ชั่วคราว ซึ่งมีกำลังการผลิต 435,000 บาร์เรลต่อวัน

นายวีรพัฒน์  กล่าวว่า ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันที่น่าจับตามองในด้านต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางมีความตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ขึ้นกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) โดยพาวเวลล์ยอมรับว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ FED คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 5.25 – 5.50 จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ความท้าทายจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะบริเวณภูมิภาคตะวันออกกลาง ยังคงเป็นอีกปัจจัยที่หนุนอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงที่อาจจะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในอนาคตได้