เข็มกระตุ้นจำเป็น! ‘หมอธีระ’ ย้ำข้อมูลการฉีดวัคซีนของสหรัฐต้องฉีดเข็มกระตุ้น

196
0
Share:
เข็มกระตุ้นจำเป็น! ‘หมอธีระ’ ย้ำข้อมูลการฉีด วัคซีน ของสหรัฐต้องฉีด เข็มกระตุ้น โควิด-19

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 19 เมษายน 2566 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 53,511 คน ตายเพิ่ม 296 คน รวมแล้วติดไป 685,779,254 คน เสียชีวิตรวม 6,843,245 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 95.27 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 93.24

อัปเดตแนวทางการฉีดวัคซีนของ US FDA เมื่อวานนี้ทาง US FDA ออกประกาศแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด Bivalent สาระสำคัญโดยสรุปคือ

1.คนส่วนใหญ่ที่เคยฉีดวัคซีนแบบ monovalent (รุ่นดั้งเดิม) มาก่อน ควรได้รับวัคซีน Bivalent เป็นเข็มกระตุ้นหนึ่งเข็ม
2.คนที่เคยได้รับ Bivalent vaccine ไปแล้วหนึ่งเข็ม ยังไม่ต้องรับเข็มกระตุ้นซ้ำ ให้รอติดตามแนวทางการฉีดวัคซีนในอนาคต
3.สำหรับคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ถ้าเคยได้รับ Bivalent vaccine มาแล้ว ควรได้รับการฉีดกระตุ้นหลังจากเข็มก่อน 4 เดือน
4.สำหรับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถ้าเคยได้รับ Bivalent vaccine มาแล้ว ควรได้รับการฉีดกระตุ้นหลังจากเข็มก่อน 2 เดือน และเข็มถัดๆ ไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแลรักษา
5. คนที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีน แนะนำให้รับวัคซีน Bivalent หนึ่งเข็ม แทนที่จะรับวัคซีนแบบเดิมที่เป็น monovalent mRNA vaccine หลายเข็ม
6.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน ควรได้รับ Moderna bivalent vaccine 2 เข็ม หรือ Pfizer bivalent vaccine 3 เข็ม ส่วนเด็กในช่วงอายุดังกล่าว หากเคยได้รับวัคซีนแบบ monovalent มาก่อน ก็สามารถรับ Bivalent vaccine ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเข็มและชนิดวัคซีนที่เคยฉีดมาก่อน

ข้อมูลความรู้ข้างต้น เพื่อให้เราทราบสถานการณ์แนวทางการฉีดวัคซีนของสหรัฐอเมริกา

ปัญหาการนอนหลับในผู้ป่วยโรคโควิด-19 งานวิจัยจาก 38 สถาบันในสหราชอาณาจักร นำเสนอในงานประชุมวิชาการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อและจุลชีววิทยาของยุโรป the European Congress of Clinical Microbiology & Infectious Diseases ที่เดนมาร์กในช่วง 15-18 เมษายนที่ผ่านมา ศึกษาในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 700 คน เปรียบเทียบกับคนที่เคยนอนรักษาตัวโดยภาวะอื่นๆ

พบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีปัญหาด้านการนอนหลับถึง 62% โดยเฉลี่ยแล้ว หลังออกจากโรงพยาบาลไป ใช้เวลาในการนอนหลับมากขึ้นราว 1 ชั่วโมง แต่การนอนหลับนั้นมีคุณภาพไม่ดี นอนหลับไม่สนิท โดยประเมินจาก sleep regularity scale ซึ่งมีคะแนนลดลงถึง 19% ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการนอนหลับนั้นจัดเป็นอาการหนึ่งในภาวะ Long COVID และคณะวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนหลับนี้มีแนวโน้มที่จะยาวนานอย่างน้อย 12 เดือน

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์พบว่า ปัญหาการนอนหลับยังสัมพันธ์กับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น หอบเหนื่อย อ่อนแรง วิตกกังวล ฯลฯ อีกด้วย

การป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงที่แออัด ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ระบายอากาศในที่บ้าน ที่ทำงาน ที่กินดื่ม ที่เที่ยว ให้ดี การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก