เงินกู้แบงก์จะดันเศรษฐกิจไทยโตได้ใน 5 ปีข้างหน้า เงินกู้ครัวเรือนต้องอยู่ช่วง 35-40% ของทั้งระบบ

139
0
Share:
เงินกู้ แบงก์จะดัน เศรษฐกิจ ไทยโตได้ใน 5 ปีข้างหน้า เงินกู้ครัวเรือนต้องอยู่ช่วง 35-40% ของทั้งระบบ

ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยบทความสินเชื่อภาคเอกชนไทยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจมากแค่ไหน? พบว่า ระบบเศรษฐกิจควรแบ่งสัดส่วนระหว่างสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อธุรกิจอย่างไร การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจึงจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนในวันนี้กับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีข้างหน้า และคำนวณว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือน (ต่อสินเชื่อภาคเอกชน) มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างไร บทความฉบับนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 43 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยศึกษาย้อนสถิติในช่วงปี 1950-2009

ทำให้พบว่า ผลของการขยายสินเชื่อภาคเอกชนในวันนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขึ้นกับสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญ โดยการขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากที่สุดหากสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนอยู่ที่ 35-40% ของสินเชื่อภาคเอกชนทั้งหมด หากสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนสูงหรือต่ำเกินไป การขยายสินเชื่อภาคเอกชนจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้น้อยลง

ย้อนกลับมาที่ไทย ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนของไทยจนสูงเกินช่วง 35-40% ไปมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อครัวเรือนของไทยสูงกว่าระดับเหมาะสมถึงเกือบ 15% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับที่เหมาะสม

จากผลการศึกษา ระบบการเงินไทยจำเป็นต้อง ‘ซ่อม’ โครงสร้างสินเชื่อภาคการเงิน เพื่อลดสัดส่วนของสินเชื่อครัวเรือน และ ‘สร้าง’ กลไกโยกย้ายทรัพยากรทางการเงินจากสินเชื่อครัวเรือนไปเป็นสินเชื่อธุรกิจที่ภาคเอกชนจะนำไปลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

‘การซ่อม’ จะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับโครงสร้างหนี้มีความท้าทาย เพราะหนี้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน เช่น หนี้มีวงเงินสูงหรือต่ำ ครัวเรือนมีหนี้กับสถาบันการเงินเดียว หรือมีกับสถาบันการเงินหลายแห่งพร้อมกัน การปรับโครงสร้างหนี้แต่ละกลุ่มจึงต้องทำอย่างเจาะจงและมีกลยุทธ์ สำหรับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขึ้นกับประสิทธิภาพของกระบวนการล้มละลาย การประเมินราคาสินทรัพย์ และศักยภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะต้องทบทวนและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับ ‘การสร้าง’ ในบทความเรื่อง ‘ลดหนี้ครัวเรือนอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาว’ ความท้าทายของการขยายสินเชื่อธุรกิจส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างแรงจูงใจของสถาบันการเงินเอง โดยเฉพาะแรงจูงใจในการให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งการที่สถาบันการเงินเข้าไม่ถึงข้อมูลฐานะและประวัติทางการเงินของ SMEs ทำให้สถาบันการเงินไม่ทราบความเสี่ยงที่แท้จริงของธุรกิจ SMEs ประกอบกับประสบการณ์จากวิกฤตการเงินในปี 1997 ที่ทำให้สถาบันการเงินกลัวความเสี่ยง สถาบันการเงินจึงรักษามาตรฐานการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ในระดับสูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อธุรกิจจึงเกี่ยวข้องกับการเพิ่มการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกลไกตลาดสินเชื่อธุรกิจ