เงินบาทครึ่งเดือนสิงหาคมแข็งทะยานกว่า 4% ดีที่สุดในแถบเอเชีย

383
0
Share:

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า วันนี้ 15 สิงหาคม 2565 เมื่อเวลา 11.20 น. (ตามเวลาญี่ปุ่น) หรือตรงกับเวลา 9.20 น. (เวลาไทย) เงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวระหว่าง 35.36-35.40 บาท สำหรับค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าถึง 4.6% ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยขึ้นมาแข็งค่าสูงสุดที่ระดับ 35.30 บาท ส่งผลเป็นค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นนำตลาดมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียเมื่อคิดในแง่ร้อยละ หรือสัดส่วน

นักวิเคราะห์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ค่าเงินบาททะยานขึ้นอย่างรวดเร็วมาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะลดลงเป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีราคาตกต่ำลง นอกจากนี้ แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยได้รับการคาดการณ์จากภายในประเทศว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวถึงระดับ 10 ล้านคนในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่เคยประเมินเมื่อเดือนเมษายนว่าจะมีจำนวน 6 ล้านคน

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นครั้งแรกในรอบ 4 ปี และสิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ถูกสุดในรอบ 2 ปี 2 เดือนของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านไป ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นของแบงก์ชาติกับธนาคารกลางสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา มีช่วงห่างกันลดลงบ้าง รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากการประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นไม่รุนแรงในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้

นอกจากนี้ แนวโน้มการลดระดับความรุนแรงของโรคระบาดโควิด-19 มาเป็นระดับใกล้เคียงโรคไข้หวัดใหญ่ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อแนวโน้มเงินบาทในอนาคต

ธนาคารมาลายัน แบงก์กิ้ง มาเลเซีย ประเมินว่า ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 34.80 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 สอดคล้องกับธนาคารโนวาสโกเทีย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในช่วงระหว่าง 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ในวันนี้ สภาพัฒน์จะแถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไตรมาสที่ 2 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ราว 3.1% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวได้ 2.1%