เงินบาทเปิดตลาดใกล้แตะ 36 บาท แข็งค่าขึ้น หลังเงินเฟ้อสหรัฐออกมาตามตลาดคาด

177
0
Share:
เงินบาท เปิดตลาดใกล้แตะ 36 บาท แข็งค่าขึ้น หลังเงินเฟ้อสหรัฐออกมาตามตลาดคาด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ขณะที่ดอลลาร์ทรงตัวหลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาเมื่อคืนนี้เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนปัจจัยในประเทศที่มาจากมติ ครม. เมื่อวานนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก ขณะที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลออกต่อเนื่อง และมีปัจจัยกดดันให้บาทอ่อนค่าจากการนำเข้าน้ำมันที่มีราคาสูงขึ้น

“บาทขยับแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้เล็กน้อย แต่ยังอยู่ใกล้เคียงกับระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 9 เดือน” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.60-35.80 บาท/ดอลลาร์

ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด 35.73 บาท/ดอลลาร์ ใกล้เคียงกับราคาปิดเมื่อวานที่ 35.76 บาท/ดอลลาร์ โดยมองกรอบวันนี้ในช่วง 35.60-35.90 บาท/ดอลลาร์

โดยดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดในเดือนส.ค.โดยดัชนี CPI ประจำเดือน ส.ค. ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 3.6% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือน ส.ค.

นักลงทุนให้น้ำหนัก 95.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการประชุมขึ้นในวันที่ 19-20 ก.ย.

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแกว่งตัวในช่วง 35.66-35.82 บาทต่อดอลลาร์ โดยผันผวนไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาตามคาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมาบ้าง อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลว่า หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้า และเปิดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อในช่วงไตรมาส 4 ได้ ทำให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่า

ในฝั่งตลาดบอนด์ การเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ที่พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 4.25% หลังปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 4.32% อาจสะท้อนว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเริ่มมองว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องได้ และเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ที่ออกมาไม่ได้ต่างจากที่ตลาดคาดการณ์มากนัก อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ที่อาจกระทบต่อแนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลลาร์รีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 104.7 จุด (กรอบ 104.5-104.8 จุด)

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท มีปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เพราะแม้ว่า เงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideway หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ออกมาไม่ต่างจากคาดมาก แม้เงินบาทอาจมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่บ้าง แต่การอ่อนค่าอาจจำกัดอยู่ในช่วง 35.80-35.85 บาทต่อดอลลาร์ ยกเว้นว่าเงินดอลลาร์จะได้ปัจจัยหนุนที่ชัดเจนและแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ปรับตัวขึ้นทะลุ 105 จุด ชัดเจน) ในกรณีดังกล่าว มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททดสอบโซนแนวต้าน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนค่าสุดที่เราเคยประเมินไว้ในวันที่ 28 มิถุนายน ส่วนโซนแนวรับ เรามองว่า 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ อาจยังเป็นแนวรับแรกของเงินบาทในระยะสั้นนี้