เงินหยวนในตลาดต่างประเทศดิ่งทำสถิติใหม่ในรอบ 12 ปีถึง 2 วันติด หวั่นปธน.สีจิ้นผิงฮุบ

552
0
Share:
เงินหยวน ในตลาดต่างประเทศดิ่งทำสถิติใหม่ในรอบ 12 ปีถึง 2 วันติด หวั่นปธน.สีจิ้นผิงฮุบ

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ หรือตลาด Onshore เมื่อวานนี้ 25 ตุลาคม 2565 รายงานว่าค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงมาแตะที่ระดับ 7.3076 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลง -0.6% ทำสถิติอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 14 ปี 10 เดือน หรือนับตั้งแต่ธันวาคม ปี 2007 ส่งผลเงินหยวนอ่อนค่าตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 15% เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวานนี้ 25 ตุลาคม 2565 นักลงทุนต่างชาติในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในต่างประเทศแห่เทขายเงินหยวนอย่างรุนแรง ทำให้เงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดซื้อขายในต่างประเทศ หรือตลาด Offshore พบว่า ร่วงลงอย่างหนักมาแตะที่ระดับ 7.36 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 12 ปี เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หรือนับตั้งแต่เงินหยวนเริ่มต้นเปิดซื้อขายในตลาดต่างประเทศเมื่อปี 2010 เป็นต้นมา

สาเหตุจากนักลงทุนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินทั้งในและต่างประเทศล้วนวิตกกังวลกับแนวโน้มนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เต็มไปด้วยอำนาจการบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบที่สุดนับตั้งแค่ยุคสมัยเหมาเจ่อตุงเป็นต้นมา นอกจากนี้ ค่าเงินหยวนตกอยู่ในแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ช่วงห่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนกว้างมากขึ้นต่อเนื่อง

เมื่อวันอังคารที่ 25 ตุลาคมผ่านไป ธนาคารกลางจีนแผ่นดินใหญ่ ประกาศกำหนดค่าเงินหยวนในระดับอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 14 ปี สะท้อนถึงจีนต้องการเห็นค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินหยวนเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 กำลังเข้าสู่ภาวะให้ผลตอบแทนที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 หรือในรอบ 28 ปี ซึ่งในปี 1994 เป็นปีที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่สั่งลดค่าเงินหยวนถึง 33% เพียงชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้ ในอดีตผ่านมา ค่าเงินหยวนผูกติดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 8.28 ต่อดอลลาร์สหรัฐ จนกระทั่งถึงปี 2015 รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ประกาศปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจากระบบผูกติดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นระบบเงินหยวนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการเป็นครั้งแรก หลังจากนั้น ค่าเงินหยวนเคยแข็งค่าขึ้นสูงสุดที่ระดับเกือบ 6.01 ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2014