เจาะวัยเก๋า! ไทยสูงวัยเน้นลงทุนเสี่ยงต่ำแต่ไม่เคยรู้เกษียณแล้วมีเงินเท่าไรถึงพอ

432
0
Share:
เจาะวัยเก๋า! ไทย สูงวัย เน้น ลงทุน เสี่ยงต่ำแต่ไม่เคยรู้เกษียณแล้วมีเงินเท่าไรถึงพอ

บริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์ ภาคการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) เปิดเผยการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มคนไทยสูงวัยในประเทศไทย พบว่า คนไทยสูงอายุในปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 50-59 ปี กลุ่มอายุ 60-69 ปี และกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ความแตกต่างด้านช่วงอายุที่ถึงแม้จะถูกจัดอยู่ในวัยสูงอายุด้วยกันก็ตามล้วนมีความต้องการแตกต่างกันรวมถึงมีพฤติกรรมและทัศนคติที่ต่างกัน

ในแง่ลักษณะการใช้ชีวิตของคนไทยสูงอายุ ทำให้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุในไทยเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มสูงอายุวัยแซ่บ ต้องทำให้ตนเองดูดีอยู่เสมอ ชอบการแต่งตัวใช้เสื้อผ้ามีสไตล์ไม่ตกกระแส หรือแฟชั่น ถัดมาเป็นกลุ่มสูงอายุวัยฟรีด้อม ต้องการมีเวลาเป็นของตัวเองมาก มีความต้องการอยากทำกิจกรรม อยากออกไปท่องเที่ยวภายนอก กลุ่มที่สาม คือ ผู้สูงอายุวัยอะไหล่หายาก ทำให้คนในกลุ่มนี้หันมาเน้นดูแลสุขภาพร่างกายเป็นหลักสำคัญ เข้าข่ายดูแลป้องกันล่วงหน้า

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุวัยมั่งคั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 4 พบว่า มีทัศนคติและมุมมองการหาเงิน การเก็บสะสมเงิน โดยเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์(X) และเจนเนอเนชั่นเบบี้บูมเมอร์ หรือหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น 2 เจนเนอเรชั่นที่มีเงินฝากมากที่สุด สาเหตุจากคนไทยสูงอายุทั้ง 2 วัยนี้ ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 26 ปีผ่านมา จึงเข้าใจความสำคัญของการมีเงินเก็บออมสะสมใช้ในยามวิกฤต ที่สำคัญ เคยเป็นวัยที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต และพร้อมที่จะใช้เงินเก็บในบางครั้งเพื่อซื้อหาความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต อย่างไรก็ตาม กลับตรงกันข้ามกับคนไทยเจนเนอเรชั่นวาย(Y) หรือมิลเลนเนียม ที่เป็นกลุ่มใช้เงินเก่งสุด

กลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มผู้สูงอายุวัยเข้าใจยาก ความแตกต่างของกลุ่มนี้อยู่ที่เป็นกลุ่มที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างบ่อยครั้ง เข้าข่ายประเภทแอบส่องดูข้อมูล แต่ไม่โพสต์หรือมีปฏิสัมพันธ์บนสื่อโซเชียลแต่อย่างใด

ขณะที่ คนสูงอายุในไทยที่ถูกจัดตามสภาพกายภาพ หรือร่างกายนั้น ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสูงอายุติดสังคม คือ กลุ่มที่มีโครงสร้างร่างกายและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง สามารถเคลื่อนไหวอย่างสะดวก มีความกระตือรือล้นที่จะออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงชอบท่องเที่ยว ถัดมากลุ่มสูงอายุติดบ้าน คือสภาพร่างกายไม่อำนวย ไม่ค่อยสะดวกเวลาไปไหนมาไทน ชอบใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน แต่สามารถทำกิจกรรมภายในบ้านได้ และกลุ่มสูงอายุติดเตียง คือกลุ่มเริ่มมีปัญหาสุขภาพถึงขั้นไม่สามารถทำกิจกรรม การเคลื่อนไหวแทบไม่มีและยากลำบาก ส่งผลให้ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุนอนติดเตียง

การสำรวจยังพบว่า ลำดับความสำคัญในการมีชีวิตของกลุ่มคนไทยสูงอายุ ได้แก่ สุขภาพ ทัศนคติในการใช้ชีวิต และการเงิน ตามลำดับ ด้านสุขภาพ พบว่า คนวัยดังกล่าวให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องริ้วรอยบนใบหน้าและร่างกาย ที่น่าสนใจมาก คือถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี หรือไม่มีเงินพอก็ตาม แต่ต้องสวยและดูดีมาก่อน ส่งผลด้านบวกกับธุรกิจคลินิกเสริมความงามในไทยที่เติบโตต่อเนื่อง สำหรับการดูแลตัวเองหรือการใช้ชีวิตของคนสูงอายุในไทย พบว่า เน้นการป้องกันมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคนไทยสูงอายุมากถึง 86% ยอมรับว่าการป้องกันนั้นดีกว่าการรักษา จึงทำให้คนวัยดังกล่าวมองการออกกำลังกายไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของชีวิต โดยความถี่ในการออกกำลังกายมีมากถึง 5-6 วัน/สัปดาห์

สำหรับการเงินของคนไทยสูงอายุนั้น ผลสำรวจพบว่า คนสูงวัยส่วนใหญ่เน้นการลงทุนมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ประกันออมทรัพย์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เงินฝากประจำ และซื้ออสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มวัยสูงอายุนี้มีความกังวล คือไม่รู้ว่าเมื่อตนเองเกษียณแล้วควรมีเงินเท่าไหร่ที่เรียกว่าพอ ในแง่การใช้จ่ายซื้อของใช้ พบว่า มีพฤติกรรมที่ซื้อสินค้าเมื่อต้องการใช้เท่านั้น ซื้อเพื่อสมาชิกในครอส่งครอบครัว ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อด้วยตัวเอง โดยเฉลี่ยแล้วซื้อสินค้ามีราคาไม่เกิน 1,000 บาท คนไทยในวัยเกษียณส่วนใหญ่ หรือ 85% เลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า มีอยู่ราว 61% ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์