เจ้าของสินค้ามึนตึ้บ หนี้ครัวเรือนสูงฉุดอารมณ์ซื้อ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ฉุดกำไรหาย

281
0
Share:
เจ้าของสินค้ามึนตึ้บ หนี้ครัวเรือน สูงฉุดอารมณ์ซื้อ ขึ้นค่าแรง ขั้นต่ำ ฉุดกำไรหาย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่ารู้สึกกังวลกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย กรมการค้าภายในจึงได้มีการประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้า ห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านค้าส่งท้องถิ่น ในการกำกับดูแลราคาสินค้าที่มีความจำเป็นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยังขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าไว้ก่อน เพื่อช่วยในเรื่องของการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน

ขณะที่สถานการณ์ราคาสินค้าในภาพรวมเวลานี้ค่อนข้างทรงตัว แต่ความกังวลกลับไปอยู่ที่สินค้าเกษตรบางรายการที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงราคาอาจมีการปรับสูงขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ราคาขยับสูงขึ้นเล็กน้อย แต่มั่นใจว่า ปริมาณจะมีเพียงพอไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ โดยมีสต๊อกเพื่อความมั่นคงภายในประเทศอยู่ที่ 2.2-2.3 แสนตัน โดยกรมฯจะมีการบริหารจัดการผลผลิตให้สมดุล และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจ (BSI Special) และ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มีข้อความสำคัญดังนี้

การเผยแพร่ผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจเฉพาะกิจ (BSI Special) เดือนมิถุนายน 2566 และ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนมิถุนายน 2566 และใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่ปรับหรือมีแนวโน้มปรับราคาไม่เกินร้อยละ 5 เทียบกับราคาปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นอีกปัจจัยกดดันที่ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจขึ้นราคาสินค้าในระยะต่อไป

หากรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมีแนวทางรับมือทั้งด้านปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มทักษะแรงงาน ปรับใช้ Automation รวมถึงปรับขึ้นราคาสินค้า อย่างไรก็ดี ธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตได้รับกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่าธุรกิจภาคการผลิต เนื่องจากค่าจ้างในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำค่อนข้างมาก ทั้งนี้ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลช่วยบรรเทาภาระด้านค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมิถุนายน 2566 พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนมิถุนายนปรับลดลงทั้งภาวะปัจจุบัน และแนวโน้มอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง ส่งผลให้การปรับขึ้นราคาสินค้าทำได้อย่างจำกัด แม้ว่าธุรกิจจะเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงอย่างต่อเนื่อง