เจ้าสัวคีรีมั่นใจสายสีชมพูเข้าถึงเมืองทองธานีได้ใช้แน่อีก 2 ปี

545
0
Share:

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคน/ปี ได้รับความสะดวกสบาย ช่วยบรรเทาปัญหาจราจร สร้างโอกาสและส่งเสริมธุรกิจในเมืองทองธานีให้เติบโตมากขึ้นอีก 10-20% โดยจะมีการลงทุนสร้างสกายวอล์กอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งแล้วเสร็จไปกว่า 90% เพื่อเชื่อมต่อไปยังศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม อิมแพ็ค, โรงแรมในพื้นที่, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโต

นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่ โดยจะมีมูลค่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็นโครงการ Mixed Use ต่อไป โดยทั้ง 2 สถานี คือ สถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี มีระยะทางรวมประมาณ 3 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เป็นการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ แบ่งเป็น 1. สัญญาให้การสนับสนุนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี และ 2. สัญญาก่อสร้างทางเชื่อม จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามายังตัวอาคารของเมืองทองธานี โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ทาง BLAND ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิให้กับ NBM ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างและพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และเพื่อสิทธิของ BLAND หรือบริษัทในเครือของ BLAND ในการก่อสร้างทางเชื่อมสถานี เพื่อเชื่อมต่ออาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่ม BLAND ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเมืองทองธานี เข้ากับสถานีรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยายเมืองทองธานี นับแต่วันที่ทำสัญญา จนถึงวันที่สิทธิในการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระหว่าง NBM และ รฟม. สิ้นสุดลง

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยอมรับว่าปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้าไปปีกว่า เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงการระบาด แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย จะสามารถเร่งรัดงานก่อสร้างได้ โดยในส่วนของเส้นทางหลักจะแล้วเสร็จทำการทดสอบระบบ 5 เดือน และเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 สำหรับส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี จะพยายามเร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2567 จากกำหนดเดิมที่จะมีการเปิดให้บริการในปี 2568” นายคีรี กล่าว

สำหรับความคืบหน้าในภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี (ไม่รวมสถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี) มีความคืบหน้าโครงการ 89.43% แบ่งเป็นงานโยธา 91.01% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.90%

ทั้งนี้ ในวันนี้ 2 สิงหาคม 2565 บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) (BLAND) จัดพิธีลงนามเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่าง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTSG), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ใน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” ด้วยเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท สำหรับส่วนต่อขยาย 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์ อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยการก่อสร้างส่วนต่อขยายนี้จะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2567