เซเว่น-อีแลฟเว่นญี่ปุ่นจ่อใช้เอไอ ลดเวลาวางแผน-ผลิตสินค้าจาก 10 เดือนเหลือ 1 เดือน

404
0
Share:
เซเว่น-อีแลฟเว่น ญี่ปุ่น จ่อใช้ เอไอ ลดเวลาวางแผน-ผลิตสินค้าจาก 10 เดือนเหลือ 1 เดือน

เซเว่น-อีแลฟเว่น ญี่ปุ่น เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงชื่อดังอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปี 2024 จะเริ่มนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่เรียกว่าเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มาใช้ในการวางแผนและผลิตสินค้าที่ขายอยู่ในเครือข่ายร้านเซเว่น-อีแลฟเว่น ซึ่งจะทำให้ประหยัดเวลาได้มากถึง 90% จากการที่พนักงานในร้านแต่ละสาขาจะต้องมีส่วนในการทำงานเกี่ยวกับการวางแผนสินค้าในปัจจุบัน นั่นหมายถึงในปัจจุบันที่ใช้เวลาเฉลี่ยถึง 10 เดือนในการคิด พัฒนา ทดลอง และเปิดสินค้าเข้าตลาดในร้านเซเว่น-อีแลฟเว่นนั้น เมื่อนำระบบเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มาใช้ จะลดเหลือเพียง 1 เดือนซึ่งครอบคลุมทุกขั้นตอนดังกล่าว

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะสร้างตัวอักษร ข้อความ และภาพสำหรับสินค้าใหม่จากข้อมูลการวิเคราะห์เกี่ยวกับยอดขายของสาขา และการตอบสนองความคิดเห็นของลูกค้าจากสื่อโซเชียล

เจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) จะทำให้เกิดการผสมผสานด้านการจัดจำหน่ายสินค้ากับกระแสของสินค้าที่กำลังอยู่ในความนิยม และความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ด้วยความแม่นยำของข้อมูลผ่านเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) จะสามารถพัฒนาร่างการนำเสนอสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยผลิตมาจำหน่ายในร้านเซเว่น-อีแลฟเว่น

เซเว่น-อีแลฟเว่น เปิดเผยว่า ระบบเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) จะบริหารจัดการขั้นตอนในปัจจุบันที่พึ่งพาพนักงานจำนวนมากในการเสนอความคิดที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลานานในการวิเคราะห์ผลสำรวจความต้องการของลูกค้า และการประชุมภายในบ่อยครั้ง ก่อนที่จะได้ข้อสรุปนำไปสู่การพัฒนาสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด

ในจำนวนพนักงานของเซเว่น-อีแลฟเว่นเกือบ 9,000 คนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่นับรวมพนักงานร้านเซเว่น-อีแลฟเว่นที่เป็นผู้ประกอบการซึ่งซื้อแฟรนไชส์เซเว่น-อีแลฟเว่นนั้น มีพนักงานราว 1,000 คนในระดับงานธุรการได้เริ่มใช้งานระบบเจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) กันบ้างแล้ว

เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของร้านเซเว่น-อีแลฟเว่น ต้องทำตลาดสินค้าเป็นจำนวนมากมายถึง 3,400 ประเภทภายใต้ยี่ห้อเซเว่นประเภทคุณภาพพรีเมี่ยม

ทั้งนี้ เจนเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มีการนำไปใช้งานจริงในหลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการทางธุรกิจ สามารถสร้างข้อความ วิดีโอ รูปภาพ รหัสหรือข้อมูลสังเคราะห์ และการจำลองขึ้นมาใหม่