เซ็งลี้ฮ่อ! ขายปลีกไทยปีเถาะคาดโตราวกว่า 3% บนปัจจัยไม่แน่นอนที่ยังต้องจับตามอง

210
0
Share:
เซ็งลี้ฮ่อ! ค้าปลีก ขายปลีกไทยปีเถาะคาดโตราวกว่า 3% บนปัจจัยไม่แน่นอนที่ยังต้องจับตามอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยการคาดการณ์ทิศทางของธุรกิจค้าปลีกไทย ว่ายอดขายของธุรกิจค้าปลีกในปี 66 จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังอยู่บนความท้าทายรอบด้าน สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยคาดว่าตลาดอาจขยายตัวราว 2.8 – 3.6% จากปี 65 จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ผลของราคาสินค้าบางรายการที่ยังคงปรับสูงขึ้นตามภาวะต้นทุน รวมถึงมาตรการช้อปดีมีคืนและการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเลือกตั้งที่น่าจะหนุนยอดขายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังสูงและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ภาพการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในปี 66 แม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวังและเผชิญกับโจทย์ท้าทายรอบด้าน ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน

กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีกกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ หลังจากที่หดตัวสูงในช่วงปี 63-64 จากการระบาดของโควิด ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า คาดว่าจะยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับปี 65

กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากฐานที่สูงในปี 65 ได้แก่ ค้าปลีกภูธร (Local brand) ที่ร่วมลงทุนโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ และค้าปลีกออนไลน์ หรือ E-Commerce หลังจากเร่งตัวสูงด้วยอัตราเลข 2 หลักไปในช่วงโควิดแล้ว

กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) หรือดิสเคาน์สโตร์ ซึ่งแม้จะได้อานิสงส์จากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางลงมา ในขณะที่ โชห่วย ยังคงเป็นกลุ่มค้าปลีกที่เผชิญกับความยากลำบากในการสร้างยอดขาย เนื่องจากต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะในด้านราคา

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 66 ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงและการแข่งขันที่ยากลำบาก โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่การบริโภคโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้น ในระยะสั้น น่าจะฟื้นตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ ระยะข้างหน้า รูปแบบของการทำธุรกิจค้าปลีกหรือ Landscape น่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ อัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลง รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินธุรกิจในอนาคต