เปรูพบพบผู้ป่วยติดฝีดาษลิงตายรายแรก ยอดตายสะสมทั่วโลกรวม 7 ศพ

404
0
Share:

กระทรวงสาธารณสุข ประเทศเปรู รายงานว่า พบผู้ป่วยชายอายุ 41 ปี ป่วยด้วยโรคเอดส์มาก่อนหน้านี้ และเสียชีวิตหลังติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อฝีดาษลิง จากการตรวจสอบในเบื้องต้น ยังไม่สามารถปฏิเสธสาเหตุการเสียชีวิตอาจเกิดขึ้นจากโรคฝีดาษลิง ซึ่งผู้ป่วยชายรายดังกล่าวป่วยด้วยโรคเอดส์ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งบกพร่องอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเปรูได้ประกาศให้การเสียชีวิตรายนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศเปรู

เมื่อวานนี้ 1 สิงหาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขประเทศอินเดีย และกาน่า รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเสียชีวิต ซึ่งไม่เพียงนับเป็นการเสียชีวิตรายแรกของทั้งอินเดีย และกาน่า แต่ยังเป็นการเสียชีวิตรายแรกในทวีปเอเชีย และแอฟริกาฝั่งตะวันตกอีกด้วย

สำหรับประเทศอินเดีย กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชายอายุ 22 ปี ไม่มีอาการป่วยใดๆที่ชัดเจน ผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวเดินทางออกจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งตรวจพบติดเชื้อไวรัสของโรคฝีดาษลิงก่อนออกเดินทางกลับมายังประเทศอินเดีย ผู้ป่วยรายนี้ถูกนำส่งโรงพยาบาลพบว่าเกิดภาวะสมองอักเสบ หรือ Encephaltis ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสของโรคฝีดาษลิง จนเสียชีวิตเป็นรายแรกของประเทศอินเดียและของทวีปเอเชีย ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศกาน่านั้น ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขทั้งประเทศสเปน และบราซิล รายงานว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเสียชีวิต ซึ่งไม่เพียงนับเป็นการเสียชีวิตรายแรกของทั้งสเปน และบราซิล แต่ยังเป็นการเสียชีวิตรายแรกในทวีปยุโรปและละตินอเมริกาอีกด้วย ที่สำคัญกลายเป็นการเสียชีวิตครั้งแรกที่พบนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นแหล่งค้นพบและระบาดของโรคติดต่อฝีดาษลิง

การเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคติดต่อฝีดาษลิงของทั้งประเทศสเปนและบราซิลเกิดขึ้นภายในไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังจากที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข บราซิล เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อฝีดาษลิงคนแรกของบราซิล เป็นผู้ชายมีอายุ 41 ปี เสียชีวิตที่เมือง เบโล ฮาริซอนเต้ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศบราซิล จากการชันสูตรพลิกศพ พบว่าภูมิคุ้มกันในร่างกายตกต่ำลงอย่างมาก หลังป่วยด้วยโรคฝีดาษลิง

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศสเปน เปิดเผยพบผู้เสียชีวิตคนแรกของประเทศ เป็นผู้ชายอายุ 40 ปี เกิดภาวะสมองอักเสบ ต่อมาพบผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นผู้ชายอายุ 31 ปี พบอาการสมองอักเสบเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 2 รายป่วยด้วยโรคฝีดาษลิง

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ศาสตราจารย์พอล เคลลี่ หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ประจำรัฐบาลออสเตรเลีย ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์โรคติดต่อสำคัญระดับชาติ ซึ่งเป็นการประกาศสำคัญหลังจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเข้าสู่ภาวะสาธารณสุขฉุกเฉิน

ด้านหน่วยงานด้านสาธารณสุข และทำเนียบขาวในสหรัฐอเมริกา เตรียมประกาศภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วประเทศสำหรับโรคติดต่อฝีดาษลิง สาเหตุจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่ทำให้โรคดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ข้อมูลถึงวันนี้ 1 สิงหาคม 2565 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยติดโรคฝีดาษลิงสะสมจำนวน 23,620 ราย กระจายใน 80 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อ 23,620 ราย พบว่า 23,276 ราย หรือ 98.5% เป็นผู้ป่วยในประเทศที่ไม่เคยเกิดโรคติดต่อฝีดาษลิงมาก่อน ในเวลาเดียวกัน จำนวน 80 ประเทศที่พบโรคดังกล่าว พบว่ามี 73 ประเทศ หรือ 91% เป็นประเทศไม่เคยพบโรคติดต่อฝีดาษลิงมาก่อน

นอกจากนี้ ข้อมูลถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ประเทศแรกที่มีจำนวนผู้ติดโรคฝีดาษลิงสะสมมากที่สุดในโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 5,810 ราย สเปน 4,298 ราย เยอรมนี 2,677 ราย สหราชอาณาจักร 2,546 ราย ฝรั่งเศส 1,955 ราย บราซิล 978 ราย เนเธอแลนด์ 925 ราย แคนาดา 803 ราย โปรตุเกส 633 ราย และอิตาลี 479 ราย

ทั้งนี้ การระบาดของโรคฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาในปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม โดยพบผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจากประเทศไนจีเรียมายังกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หลังจากนั้นเป็นต้นมา พบการติดต่อของโรคฝีดาษลิงกระจายในยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย อาเซียน ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา