เราทนทาน! ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้เศรษฐกิจไทยทนทาน ปีนี้โต 3.3% ปีหน้าแตะ 3.8%

254
0
Share:
เราทนทาน! ผู้ว่า แบงก์ชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ เศรษฐกิจไทย ทนทาน ปีนี้โต 3.3% ปีหน้าแตะ 3.8%

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุมิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า ปีหน้าจะเห็นข่าวไม่ดีหลายเรื่อง โลกชะลอตัว ภาวะความผันผวนในตลาดการเงินจะฟังดูรุนแรง เพราะโลกเสพติดกับดอกเบี้ยต่ำมานาน และสภาพคล่องล้น แต่วันนี้เมื่อน้ำลดตอเริ่มผุด ตัวอย่างที่เห็นชัดในอังกฤษ ตลาดพันธบัตรผันผวนสูง ค่าเงินปอนด์ลดลงวันเดียว 5% ดังนั้นเหล่านี้ คือตัวบ่งชี้ว่าจะเห็นพวกนี้อีกเยอะ จะมีมาอีกปีหน้า แต่สบายใจระดับหนึ่งว่าภาพรวมของไทย การฟื้นตัวของเรา ยังฟื้นตัวได้อยู่ ความสามารถของเราที่จะรับช็อกต่างๆ เทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าเป็นค่อนข้างดี เราทนทาน สามารถรองรับความเสี่ยงได้ดี เพราะเรามีเสถียรภาพ

ดังนั้นหากดูแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยอยู่ในขาที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังเป็นไปได้ต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าน่าจะเห็นการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้ที่ระดับ 3.3% และปีหน้าที่ 3.8% ดังนั้นคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับไปฟื้นตัวเท่ากับระดับก่อนโควิดได้ในปลายปีนี้ หรือต้นปี 2566

ดังนั้นปัจจัยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่องได้หลักๆ มาจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวมาสู่ระดับ 5% ปีนี้ และปีหน้าที่ระดับ 3% เหล่านี้มาจากรายได้คนที่เริ่มกลับมาดีขึ้นทั้งในและนอกภาคการเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลสำคัญใหเแบงก์ชาติมีการปรับลดประมาณการส่งออกลดลงในปีนี้ 8%และปีหน้าลดลงเหลือ1% ให้สอดคล้องกับการชะลอตัวของโลก ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาคือ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนที่จะมีมากขึ้นแน่นอน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติยังต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไปได้ต่อเนื่องไม่สะดุด ทำให้การ take off สมูทและไปได้ต่อเนื่อง

หากมองปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย ไม่เกิดการฟื้นตัวต่อเนื่อง และเติบโตเหมือนที่คาดการณ์ จะมาเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำมากเป็นเวลานาน การทำนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน อาจไม่เหมาะกับบริบทเศรษฐกิจปัจจุบัน

ด้านเงินเฟ้อที่ผ่านมา พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวสูงระดับ 8-9% แทบจะเป็นระดับสูงสุดของภูมิภาค ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือการเอาเงินเฟ้อลงมา เพราะหากเงินเฟ้ออยู่ยาวจะส่งผลไม่ดีและฝังรากลึก ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่เรียกว่า Wage-price Spiral ได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกนง.ต้องแสดงความมุ่งมั่น หรือ commitment ในสิ่งที่ไม่อยากเห็น จึงนำมาสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้การคำนึงถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่โดยรวมการขึ้นดอกเบี้ย มีผลกระทบน้อยกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นที่จะเป็นภาระต่อประชาชนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า มากกว่าการผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย เพราะหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่กว่า 60% เป็นดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น ผลกระทบน้อยกว่าการปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุมิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ เพื่อเอาเงินเฟ้อให้อยู่ ไม่จำเป็น เพราะวันนี้เงินเฟ้อผ่านจุดพีคไปแล้วเมื่อไตรมาส3ที่ผ่านมา และเริ่มเห็นเงินเฟ้อชะลอตัวลง และคาดว่าเงินเฟ้อไทย จะสามารถเข้าสู่กรอบได้ปีหน้า ซึ่งระดับ1%คงไม่เห็นแน่ แต่จะลงมาอยู่ที่ระดับกว่า 2% และยังอยู่ในกรอบที่ 1-3%

ในแง่ค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่า หลักๆ มาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น บวกกับค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า โดยหากดูการแข็งค่าของดอลลาร์ในปัจจุบันแข็งค่าขึ้น10-11% ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าปีนี้อยู่ที่ 7 % อ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินบาท ไม่ได้มาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพราะหากดูเงินทุนไหลเข้าไหลออก พบว่าวันนี้ต่างชาติยังซื้อสุทธิในสินทรัพย์ไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนว่าการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไม่ได้มาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นหลัก อีกทั้ง สะท้อนว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพ เพราะค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่ามาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ภายใต้เสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ค่อนข้างดี ทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ