กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันการออกใบขับขี่รถไฟฟ้า

832
0
Share:

 

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถไฟ-รถไฟฟ้า มีการหารือกันถึงประเด็นการกำหนดความผิดที่เข้าข่าย พักใช้ใบอนุญาต และ เพิกถอน ใบอนุญาต

โดยมีมติร่วมกันว่า การพักใช้ใบอนุญาต มีกำหนดพักใช้สูงสุด 1 ปี ส่วนการเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อมีการเพิกถอนแล้ว จะไม่สามารถขออนุญาตทำใบขับขี่ใบใหม่ได้เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจึงจะขอใบอนุญาตใหม่ และต้องเข้ารับการฝึกอบรมใหม่อีกครั้งก่อนจะได้รับใบขับขี่ใหม่ ส่วนลักษณะโทษที่เข้าข่ายให้กรมการขนส่งทางราง หรือ ขร.พิจารณารายละเอียดต่อไป

อีกเรื่องที่หารือกันคือ การรับรองหลักสูตรการอบรมพนักงานขนส่งทางราง โดยมีสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เป็นที่ปรึกษาให้กับกรมราง จะมีการร่างกฎกระทรวงที่จะครอบคลุม ใน 4 หมวดด้วยกัน

คือ 1.การรับรองสถาบันการอบรม 2.การรับรองหลักสูตรการอบรมของผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ 3.การรับรองสถาบันและหลักสูตรอบรมจากต่างประเทศ เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอด จึงต้องอาศัยการฝึกอบรมจากต่างประเทศก่อนเป็นสำคัญ และ 4.การรับรองครูฝึกและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

โดยกระบวนการออกร่างกฎกระทรวง จะต้องรอร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ประกาศใช้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจึงจะส่งกลับมาที่รัฐบาลเพื่อสอบถามความเห็นกระทรวงคมนาคม ถ้าไม่มีก็จะเสนอต่อไปที่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติรับรองเป็นกฎหมายประการใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะประกาศใช้ได้ภายในปีนี้

.  

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้า จะครอบคลุมระบบรถไฟ 6 ประเภท ได้แก่ รถจักรดีเซล //รถจักรไอน้ำ //รถจักรไฟฟ้า //รถไฟฟ้า // แทรม-โมโนเรล และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งทั้ง 6 แบบ คาดว่าจะมีผู้ขับขี่รวมประมาณ 1,930 คน

ส่วนคุณสมบัติผู้ขับขี่ เบื้องต้นกำหนดไว้คร่าวๆ เช่น สัญชาติไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป การศึกษาให้ทั้งผู้ที่จบอาชีวะและปริญญาตรี เป็นต้น โดยใบขับขี่จะมีอายุ 5 ปีไม่มีแบบตลอดชีพ ขณะที่หลักสูตรที่จะเอามาเปรียบเทียบจะใช้ของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ต้องดูก่อนว่าแต่ละหน่วยงานที่จัดฝึกอบรมในขณะนี้เปิดสอนอะไรบ้าง ครบถ้วนหรือไม่

ถ้าไม่ครบก็จะมีการเสริมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทุกหน่วยงานที่มีศูนย์ฝึกอบรมอยู่แล้ว สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นสถาบันฝึกอบรมได้ เหมือนโรงเรียนสอนขับรถ ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่างร่างเป็นกฎกระทรวงอยู่