เวลาผ่านไป 10 ปี คนไทยมีกำลังซื้อกระเตื้องวันละ 15 บาท ตามไม่ทันเงินเฟ้อ

300
0
Share:
เวลาผ่านไป 10 ปี คน ไทย มี กำลังซื้อ กระเตื้องวันละ 15 บาท ตามไม่ทัน เงินเฟ้อ

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าเงินส่วนใหญ่ของคนยากจน หรือคิดเป็น 45% ของรายได้ทั้งหมด ได้ใช้ไปสำหรับการบริโภคอาหาร ขณะที่คนร่ำรวยมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารคิดเป็นเพียง 27% ของรายได้ทั้งหมด จึงสะท้อนได้ว่าในความเป็นจริงแล้ว คนยากจนได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงกว่า 7% ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะปรับขึ้นใหม่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าคนยากจนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพียง 15 บาทต่อวันเท่านั้น โดยในอดีตกลุ่มคนยากจนจะจับจ่ายใช้สอยอยู่ที่ 318 บาทต่อวัน ขณะที่ค่าจ้างใหม่จะทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 333 บาทต่อวันเท่านั้น

รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ กล่าวต่อไปว่า ถ้าคิดต่อปี 22 วันต่อเดือนแล้วคูณ 12 เดือนเข้าไป พบว่าสามารถจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 3,960 บาทต่อปี ซึ่งก็คิดเป็นประมาณ 4.72% ถ้าไปดู GDP ซึ่งคือรายได้รวมของทั้งประเทศใน 10 ปี ตรงนี้ขยายตัวโต 20% ดังนั้นก็เหมือนว่ารายได้ของกลุ่มคนรายได้น้อยโตช้ากว่าเศรษฐกิจที่มันโตขึ้น มันก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำตรงนี้และชีวิตที่ค่อนข้างจะลำบาก

อย่างไรก็ดี การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนในประเทศ รวมถึงไม่ใช่เรื่องที่ยั่งยืนสำหรับการพัฒนา แท้จริงแล้วคนทั้งประเทศควรได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าระดับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากจะไม่พอสำหรับการจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ในทางเศรษฐศาสตร์ยังถือเป็นการบิดเบือนตลาด ซึ่งมีผลให้ประสิทธิภาพของตลาดลดลง