เศรษฐกิจโลกซบเซาฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมต่ำสุดใน 16 เดือน หวังยาแรงดิจิทัลวอลเล็ต

339
0
Share:
เศรษฐกิจโลกซบเซาฉุด ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ต่ำสุดใน 16 เดือน หวังยาแรงดิจิทัลวอลเล็ต

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายจำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ปรับตัวลดลง จาก 90.0 ในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องมาจากการปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐออกมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,337 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนตุลาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 85.7 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 70.1 และเศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 48.8 ตามลำดับ รวมถึงปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 52.7 สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร้อยละ 41.2 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 40.5 ตามลำดับ

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่มีทีท่าว่าจะเลิก แล้วยังมีสงครามอิสราเอลและฮามาสเข้ามาอีก อาจทำให้กำลังซื้อในต่างประเทศที่เป็นกำลังหลักถดถอยทั้งในยุโรป ญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง จึงต่องมาดูว่าปลายปีนี้กำลังการซื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงการประกาศวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเองก็กลับไม่แรงเท่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นปัญหาใหญ่และมีผลต่อจีดีพีของจีนถึง 30% ทำให้กดทับกำลังซื้อในจีน รวมถึงมาตรการของรัฐบาลจีนที่เน้นให้คนเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น จึงทำให้ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลดลง”

สำหรับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลง มีปัจจัยลบมาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัว ลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการและกระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าต้องการกระตุ้นขนานหนัก เพราะการออกงบประมาณการลงทุนของภาครัฐต้องล่าช้าไป 6-8 เดือนนั้นสร้างความกังวลให้กับภาคเอกชน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการจัดการปรับลดหนี้ในระบบ แต่ยังกีงวลหนี้นอกระบบที่มีมากเกือบ 20% ของหนี้ครัวเรือน โดยหนี้นอกระบบเป็นหนี้ที่มีลักษณะดอกโหดและต้องส่งทุกวัน ทำให้กำลังซื้อของประชาชนไม่พอใช้