เศรษฐกิจไทยติดหล่มลึก ทรัพย์สินถูกยึดพร้อมรอขายใหม่พุ่งกว่า 75% ใน 4 ปีกว่าผ่านมา

362
0
Share:
เศรษฐกิจไทยติดหล่มลึก ทรัพย์สินถูกยึด พร้อมรอขายใหม่พุ่งกว่า 75% ใน 4 ปีกว่าผ่านมา

นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ช่วงปี 2561 ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโควิด-19 นั้น ทรัพย์สินที่ถูกสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ยึดมา และพร้อมรอขายใหม่ หรือเรียกว่าเอ็นพีเอ (NPA) ของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชีจำนวน 93,734 ล้านบาท

ในขณะที่ตัวเลขทรัพย์สินเอ็นพีเอในเดือนสิงหาคม 2566 พยว่า มูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์มีมูลค่าทางบัญชีรวม 163,624 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 75% ในช่วง 4 ปีกว่าผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2561

อย่างไรก็ตาม มูลค่าทรัพย์สินเอ็นพีเอดังกล่าวยังไม่นับรวมทรัพย์สินเอ็นพีเอของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือธนาคารรัฐ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน หากรวมกันทั้งหมด คาดการณ์ว่ามูลค่าทรัพย์สินเอ็นพีเอทั้งระบบในไทยจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท โดยเป็นการราคาประเมิน

สำหรับแนวโน้มทรัพย์สินเอ็นพีเอมีความเป็นไปได้สูงที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อธนาคารพาณิชย์ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ยุติมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จะส่งผลให้แนวโน้มจำนวนทรัพย์สินที่รอการขาย หรือเอ็นพีเอของสถาบันการเงินมีทิศทางปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า สาเหตุหลายประการ ได้แก่ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่เป็นขาขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้นทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส กดดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลง

นายอลงกต บุญมาสุข เลขาธิการและประธานกรรมการบริหารสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย มองว่า แนวโน้มที่กล่าวมาทั้งหมดอาจเป็นปัจจัยให้ตลาดซื้อบ้านมือสองในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 นี้ ถือเป็นโอกาสทองของผู้บริโภค สาเหตุจากราคาบ้านมือสองจะมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ราว 20-30% และอยู่ในทำเลที่ไม่สามารถสร้างบ้านใหม่ได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ต้นทุนการก่อสร้างบ้านใหม่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นต่อเนื่องจากราคาที่ดิน ราคาวัสดุ และต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งครอบคลุมถึงการซื้อขายบ้านมือสองราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่กำลังจะหมดอายุลงในสิ้นปี 2566 และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการออกไปหรือไม่