เศรษฐกิจไทยต่ำเตี้ยยาวนาน เกิดภาวะบนรวย-ล่างแย่ กำไรบริษัทตลาดหุ้นโตเกือบ 30%

242
0
Share:
เศรษฐกิจไทย ต่ำเตี้ยยาวนาน เกิดภาวะบนรวย-ล่างแย่ กำไรบริษัทตลาดหุ้นโตเกือบ 30%

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ผมคิดว่าประเทศไทย ที่ขณะนี้กำลังแย่ แย่มากในระยะสั้นคือเงินลงทุนในประเทศต่ำ ทั้งภาคเอกชน เอฟดีไอ หรือการลงทุนจากต่างประเทศก็ไม่เข้ามาเลย ขณะที่คนไทยหนีออกไปลงทุนนอกประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาในระยะสั้นที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราเปิดเสรี แล้วมีกฎระเบียบที่น้อยลง เดินให้มันดี มันก็จะทำให้ค่อยๆ ฟื้น ซึ่งผมคิดว่าถ้ามีสัญญาณที่ดีมันจะทำให้เกิดการลงทุนได้”

เศรษฐกิจตอนนี้เราติดล็อกไปหมด จะคลายล็อกต้องทำให้เกิดการแข่งขันมาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะหลายเรื่องเจตนาอาจจะดี แต่บังเอิญยิ่งไปส่งเสริมการผูกขาด กีดกันคนเข้าใหม่ เช่น การห้ามโฆษณาเหล้า แบรนด์ใหม่ไม่ต้องเกิดเลย แบรนด์เก่าก็ประหยัดเงินไปด้วย รักษาตลาดได้

เศรษฐกิจของไทยต่ำเตี้ยยาวนานมาจากปัญหาของการกระจายไม่ดีเพียงพอ แม้ในระดับนโยบายในการเลือกตั้ง จะเห็นว่าพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม แม้ประชานิยมของพรรคที่ 1 พรรคที่ 2 และพรรคที่ 3 แตกต่างกัน แต่ก็เป็นประชานิยมทั้งนั้น

ถามผมไม่เห็นด้วยนโยบายการขึ้นค่าแรงอย่างพรวดพราดทันที ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การเติบโตจะแย่ลงไปอีก เพราะว่าส่งออกที่เป็นหัวรถจักรของเรา ถ้าขึ้นค่าแรงจะกระทบกับส่งออก ส่วนธุรกิจในประเทศที่ไม่ได้ส่งออกเขาก็จะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค ทำให้ทวีปัญหาเงินเฟ้อขึ้นมาอีก ในที่สุดมันก็กลับไปทำให้เป็นงูกินหางเกิดปัญหา ถ้าทำทุกโครงการ การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะมีปัญหา ต่ำกว่า 3% ในปีหน้าก็ได้

การเติบโตเศรษฐกิจของไทยมี 2 ลักษณะ 1. เติบโตต่ำเตี้ยยาวนานซึ่งการเติบโตแบบนี้เกิดขึ้นมามากกว่า 8- 10 ปี หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วย ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจ 7-8% แต่ประเทศไทยโต 2-3%

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเตี้ยทำให้ หนึ่ง โอกาสของคนหายไป สอง คือ นอกจากเติบโตต่ำเตี้ยแล้วยังเป็นลักษณะ บนรวยล่างแย่ โดยจะเห็นได้จากในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนรวยไม่กระทบจากโควิดเลย ขณะที่กำไรเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

ดูง่ายๆ ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมโต 3% แต่นิตยสารฟอบส์ประกาศว่าเศรษฐีไทยร่ำรวยขึ้น 18% ขณะที่เศรษฐกิจโต 3% มันบอกในตัวของมันเองว่าหมายถึงอะไร นี่คือจุดที่น่ากังวล

ตัวอย่างในปี 2562 ที่บอกว่าหลังโควิด เศรษฐกิจเริ่มกระเตื้อง โดยรวมบวก 3% แต่เชื่อหรือไม่ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนโต 28% ขณะที่ภาพรวมกำไรบริษัทโตเป็นสัดส่วนประมาณ 30% นั่นหมายถึงใน 30% บริษัทจดทะเบียนโต 28% ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ 100% โตแค่ 3% หมายความว่าที่เหลือติดลบ หรือไม่ก็อยู่กับที่ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มเข้ามา

โครงสร้างเศรษฐกิจแบบที่ทำให้ประเทศหลุดจากการต่ำเตี้ยยาวนาน และกระจายได้ทั่วถึงนั้น ลองไปทบทวนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยมอย่าง Thomas Piketty บอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลตอบแทนของทุนสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ หากเป็นอย่างนึ้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีถึงที่สุด และจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางสังคม