นายโนริกาอิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมตลาดรถยนต์ภาพรวมในประเทศไทยในปี 2566 อยู่ที่ 770,000 คัน ลดลง 9% จากยอดขายในปี 2565 ที่อยู่ระหว่าง 846,000-846,200 คัน ตลาดรถยนต์ในไทยช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีผ่านมาผ่านมาได้รับผลกระทบจากดัชนีเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ค่อยดี ที่สำคัญ อุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไม่เติบโต ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบตลาดรถปิกอัพ สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดอย่างมากกับการปล่อยกู้ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในครึ่งปีหลังผ่านมา
ตลาดยอดขายรถปิกอัพในภาพรวมในปี 2566 ลดลงกว่า 30% อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งตลาดรถปิกอัพของโตโยต้ายังอยู่สูงกว่า 40% ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 2011 หรือในรอบ 12 ปีผ่านมา นอกจากนี้ โตโยต้ายังมีส่วนแบ่งตลาดรวมของทั้งตลาดรถยนต์ในปี 2566 อยู่ที่ 34.3% ทำสถิติสัดส่วนตลาดสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015 หรือในรอบ 8 ปี
กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า ประเทศไทย กล่าวว่าตลาดรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 นี้ ได้มีการปรับลดลงจากการคาดการณ์ในครั้งแรก เดิมทีนั้นคาดว่า ยอดขายรถยนต์ในภาพรวมจะอยู่ที่ระดับ 780,000 ถึง 800,000 คัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีผ่านไปไม่สู้ดีนัก ความเข้มงวดในการปล่อยกู้ และภาวะหนี้ครัวเรือน ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการฟื้นตัว โตโยต้า จึงปรับลดตัวเลขคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยปี 2567 นี้ มาเหลือประมาณ 730,000 คัน หรือลดลง 40,000 คัน หรือ 5.20%
สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในไทยชะลอตัวลงจากปีผ่านมา ตลอดจนยอดขายใน 2 เดือนแรกของปีนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ในปี 2024 นี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์ในภาพรวมของประเทศไทยจะต่ำกว่า 730,000 คันเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกอาจเห็นในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้ เช่น การท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นมาเสริมภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บรรดาค่ายรถยนต์ล้วนใช้มาตรการกระตุ้นยอดขายภายในงานมอเตอร์โชว์ที่มีขึ้นในขณะนี้
ทั้งนี้ นายโนริกาอิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า ประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้าตั้งเป้าหมายการขายรถยนต์ของโตโยต้าที่ 250,000 คันในปีนี้ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 34% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่โตโยต้ามีส่วนแบ่งการตลาดที่ 34.3%