เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกยังแย่!!

815
0
Share:

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย กล่าวว่า โอกาสที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะกลับไปเติบโตที่ระดับ 4% อย่างที่เคยทำได้ในช่วงปี 2560-2561 ไม่น่าจะเป็นไปได้ในช่วงนี้ เนื่องจากภาพรวมยังคงชะลอตัว การบริโภคภายในประเทศที่อ่อนกำลังลง และสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสการฟื้นตัวในระยะสั้นนี้ยังไม่น่าเป็นไปได้
.
การชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยืดเยื้ออาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรายได้ฝืดเคืองทำให้คนต้องหันหาเงินกู้เพื่อดูแลค่าใช้จ่ายประจำวัน ยอดการนำเข้าที่ปรับลดลง สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนกำลังลง และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนที่เคยคาดว่าจะเกิดขึ้นจากสงครามการค้า
.
ทั้งนี้ตลอดไตรมาส 1 ปีนี้ นโยบายการเงินจะยังคงเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเศรษฐกิจ ในระยะสั้นไม่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นทางการคลังที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากงบประมาณปี 2563 ยังอยู่ในกระบวนการประกาศใช้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณจะเริ่มขึ้น นโยบายการเงินที่เกื้อหนุน หรือดอกเบี้ยในระดับต่ำ แต่ยังคงมีความจำเป็นในการช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายทางการคลัง รัฐบาลดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยมุ่งไปที่การบริโภค มากกว่าการลงทุน
.
โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในไตรมาส 1 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปทำสถิติใหม่ที่ 1% มุมมองของธนาคารอาจต่างจากตลาด ที่ยังมองว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะลดลงไปต่ำกว่าสถิติเดิมที่ 1.25%
.
ส่วนหลังไตรมาส 1 มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นไปได้อีก หากภาพรวมเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว ขณะที่ คาดค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29.25 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นไตรมาส โดยบัญชีเดินสะพัดเกินดุลของประเทศปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยปกติแล้วไตรมาส 1 มักเป็นไตรมาสที่ดีสำหรับบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินบาท เนื่องจากเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว
.
ยิ่งไปกว่านั้น ความล่าช้าในการผ่านงบประมาณปี 2563 ซึ่งเลื่อนมาจากเดือนตุลาคม 2562 น่าจะส่งผลให้การเบิกจ่ายล่าช้า ปัจจัยนี้น่าจะช่วยประคับประคองบัญชีเดินสะพัดในระยะสั้น เนื่องจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุน อาจหมายถึงการลดการนำเข้าสินค้าทุน หรือการเกินดุลการค้าต่อเนื่อง แต่ความเสี่ยงสำคัญที่มีต่อมุมมองค่าเงินบาทแข็งในระยะสั้นของไทยคือ โอกาสการใช้มาตรการใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท