เสียงคนไทยกว่า 2 ล้านคนโหวตชัด ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่กดดัน

303
0
Share:
เสียงคนไทยกว่า 2 ล้านคนโหวตชัด ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่กดดัน

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ได้ทำโครงการเสียงโหวตของประชาชนโดยโทรศัพท์ 1 เครื่องโหวตได้ 1 ครั้ง ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. โดยเชิญชวนประชาชนส่งเสียงไปยังสมาชิกวุฒิสภา ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่ ส.ว. ควรฟังเสียงของประชาชนโดยการโหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ซึ่งสามารถสแกน QR Code ทางหน้าจอทีวี หรือกดลิงค์ https://peoplevoiceth.survey.fm/เสียงประชาชน-3

โครงการนี้เป็นสิ่งที่ทำเพื่อให้ประชาชนได้ส่งเสียงตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างสันติ ในวิธีการสมัยใหม่คือทางโซเชียลและทางออนไลน์ และจะมีการแถลงผลโหวตในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ค.) เวลา 14.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผ่านไป 2 วัน มีคนร่วมโหวตแล้ว 2.5 ล้านคน และเชื่อว่าน่าจะทะลุถึง 3 ล้านคน ถือว่ามากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะครั้งที่แล้วสูงสุด คือ 540,000 คน

การโหวตดังกล่าวจะถือเป็นการกดดัน ส.ว. หรือไม่นั้น นายปริญญา กล่าวว่า เป็นการแสดงออกของประชาชนในวิถีทางอย่างสันติ เป็นการเสนอความเห็นของประชาชนให้ ส.ว. ได้พิจารณา ไม่ใช่การชุมนุมหรือเป็นม็อบ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยโดยตรง โดยประชาชนเป็นเจ้าของประเทศสามารถที่จะแสดงออกได้ เพื่อเสนอต่อ ส.ว. อย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย แต่เมื่อกติกาเป็นเช่นนี้ แล้วการที่ ส.ว. จะงดออกเสียงจะเป็นการเท่ากับ ส.ว. ไม่รับรอง เสียงข้างมากที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะตามกติกา เขียนเอาไว้ให้ ส.ว. มีส่วนร่วมเลือกนายกฯ กับ ส.ส. แต่การงดออกเสียงจะทำให้ ส.ส. เสียงข้างมากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้โดยจะต้องรวบรวมเสียงถึง 376 เสียง

โดยปกติรัฐบาลที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งไป 20-30 เสียง ก็สามารถตั้งได้แล้ว และเข้มแข็งพอสมควร สามารถผ่านกฎหมายเพื่อผลักดันนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ได้ และเห็นว่าจำนวนเสียง 310 ถือว่ามากเกินไปด้วยซ้ำ

การที่ฝ่ายค้านมีเสียงไม่ถึง 200 เสียง ถือว่าฝ่ายค้านเริ่มอ่อนแอแล้ว และการที่เรียกร้องให้รัฐบาลมีเสียงไปถึง 376 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. นั้น ตนเกรงว่าจะได้รัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไปและฝ่ายค้านอ่อนแอเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการถ่วงดุลในระบอบรัฐสภา เพราะการเลือกตั้งรัฐบาลไม่ใช่การแบ่งกระทรวงแต่เป็นการเอานโยบายที่หาเสียงไว้มาทำงาน ซึ่งขณะนี้ยังขาดอยู่อีก 66 เสียง จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป และหวังว่าเสียงของประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้ ส.ว. ช่วยกันฟังเสียงของประชาชน