เสียวเกิดวิกฤต! นักวิชาการห่วงสารพัดนโยบายเศรษฐกิจหาเสียงนำไปสู่อุบัติเหตุเศรษฐกิจไทย

188
0
Share:
เสียวเกิดวิกฤต! นักวิชาการ ห่วงสารพัด นโยบายเศรษฐกิจ หาเสียง เลือกตั้ง นำไปสู่อุบัติเหตุเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การนำเสนอนโยบายการให้เงินอุดหนุนหรือสวัสดิการต่างๆ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก สิ่งที่จะวัดกึ๋นของพรรคการเมืองคือ การทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเชื่อได้ว่า มีการประเมินผลกระทบของนโยบายอย่างสมเหตุสมผล และหาเงินมาจ่ายที่เป็นไปได้จริง”

สำหรับข้อห่วงใย คือ นโยบายเศรษฐกิจที่ทุกพรรคการเมืองหาเสียงในขณะนี้มีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ และอาจกลายเป็นอุบัติเหตุที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ กล่าวต่อไปว่า อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยพิจารณาการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีการแข่งขันด้านนโยบายอย่างเข้มข้นระหว่างพรรคการเมือง เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การให้สวัสดิการในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

ประเด็นความแตกต่างของการเลือกตั้งครั้งนี้เมื่อมองย้อนกลับไปเปรียบเทียบในอดีตอยู่ที่สถานะการคลังของประเทศไม่สู้ดีนัก ก่อนจะถึงยุควิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ห่างจากเพดานตามกฎหมายที่ 60% ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยในอดีตจะขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลในอดีตสามารถพูดกับนักลงทุนต่างชาติว่าไทยมีประวัติเรื่องวินัยการคลังเป็นอย่างดี ดูได้จากพื้นที่การคลังมีอยู่ประมาณ 20%

ปัจจุบัน ข้อสนับสนุนนี้ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะภาระการคลังของไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ประเด็นเพดานหนี้แทบจะไม่สำคัญอีกต่อไปในมุมมองของนักลงทุน แต่ประเด็นเพดานหนี้รวมไปถึงพื้นที่การคลังกลับกลายเป็นตัวเลขสมมติที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดได้เอง

ทุกวันนี้ นักลงทุนต่างชาติเปลี่ยนมาให้ความสนใจที่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะและวินัยทางการคลังของรัฐเป็นหลัก

สถาบันจัดอันดับเรตติ้งยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เช่น ฟิทช์เรตติ้งส์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จะให้น้ำหนักการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยที่แตกต่างว่าภาคการคลังของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง ถ้าวิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง จะพบว่าบริษัทจัดเรตติ้งเหล่านี้ล้วนคาดหวังให้รัฐบาลไทยค่อยๆ รัดเข็มขัดตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การขาดดุลด้านการคลังลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้น ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการลดอันดับเรตติ้งประเทศไทยมากที่สุด คือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายตามงบประมาณได้ นั่นหมายถึงสะท้อนการขาดวินัยการคลัง

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้เห็นได้ชัดเจนว่าหลายนโยบายมีแนวโน้มสร้างภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ถ้านโยบายเหล่านั้นไม่ได้มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เข้มแข็งพอ และการหางบประมาณที่สะท้อนความเป็นไปได้จริง อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ตลาดอาจมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อวินัยการคลัง ที่สุดคือความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในระยะยาว