เสี่ยเจริญจ่อดันบิ๊กซีเข้าตลาดหุ้นครั้งใหม่โกยพรึบเกือบ 20,000 ล้าน

289
0
Share:

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่าห้างโมเดิร์นเทรดบิ๊กซี ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และอยู่ในสังกัดของบมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกของเจ้าสัวเจริญด้วยนั้น มีแผนที่จะแยกธุรกิจห้างบิ๊กซี หรือในชื่อทางการว่าบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ออกมาจากการดูแลของบมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เพื่อนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง

สำหรับแผนงานดังกล่าวคาดว่าจะสามารถระดมทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 19,000 ล้านบาท ด้วยการเตรียมระดมทุนด้วยการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ หรือหุ้นไอพีโอ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566

ย้อนกลับไปดูเส้นทางของห้างโมเดิร์นเทรดบิ๊กซี พบว่า ก่อตั้งขึ้นและดำเนินการโดยกลุ่มเซ็นทรัลด้วยการเปิดสาขาแรกที่ถนนแจ้งวัฒนะในปี 2536 ถัดจากนั้นมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด จนกระทั่งได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2555 ซึ่งในครั้งนั้นสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 4,200 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2559 บริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งมีนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีเป็นเจ้าของได้บรรลุข้อตกลงซื้อหุ้นของบิ๊กซี 58.6% มีมูลค่า 3,100 ล้านยูโร ก่อนจะถูกถอดบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ในปี 2560 ส่งผลให้บิ๊กซีมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์

ปัจจุบันบิ๊กซีมีจำนวนร้านค้าทุกขนาดรวม 1,792 แห่ง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งในประเทศไทย และในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา

การลงทุนล่าสุด บิ๊กซีเข้าซื้อกิจการร้านกีวี มาร์ท จำนวน 18 แห่งในประเทศกัมพูชา โดยเตรียมเปลี่ยนชื่อทั้ง 18 แห่งเป็นร้านบิ๊กซี มินิ

ทั้งนี้ นโยบายของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่าภายในปี 2569 บิ๊กซีจะมีสาขาในประเทศไทย ประกอบด้วยบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่มเป็น 160 สาขา บิ๊กซีมินิเป็น 2,853 สาขา บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ตและขายส่งเป็น 84 สาขา ส่วนสาขาในต่างประเทศนั้น กำหนดไว้ว่าประเทศกัมพูชา จะขยายบิ๊กซี ไฮเปอร์มาเก็ต เป็น 6 สาขา บิ๊กซีมินิ เป็น 276 สาขา และสปป.ลาว บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็น 2 สาขา บิ๊กซีมินิเป็น 245 สาขา