เอสเอ็มอีไทยเร่งรัฐบาลเติมสภาพคล่อง แก้หนี้ธุรกิจรายย่อย เปิดปัจจัยเผาเศรษฐกิจไทย

356
0
Share:

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดเผยถึงมุมมองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 รวมถึงในช่วงครึ่งปีหลังของ 2565 พบว่า ระหว่างปัจจัยเผาเศรษฐกิจ หรือปัจจัยฟื้นเศรษฐกิจนั้น หากมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน ปัจจัยหนักสุดต่อเศรษฐกิจ สิ่งแรก คือการแก้หนี้ 3 กอง ประกอบด้วย หนี้ครัวเรือน หนึ้กำลังจะเสีย และหนี้เสีย

เริ่มจากหนี้ครัวเรือนในไทยที่มีอยู่สูงถึง 90% ของจีดีพีไทย หรือ กว่า 14 ล้านล้านบาท สะท้อนการเป็นหนี้ครัวเรือนที่ส่งสัญญาณอันตราย สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยสูงอยู่อันดับที่ 10 ของโลก และพบว่าหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2552 จากหนี้ครัวเรือนค่าเฉลี่ย 147,542 บาทต่อครัวเรือน เป็น 316,623 บาทต่อครัวเรือนในปี 2561 สะท้อนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว

หนี้กำลังจะเสีย และหนี้เสีย ที่จะหมดมาตรการผ่อนปรนในมิถุนายน 2565 นี้ หนี้กำลังจะเสียทั้งระบบธนาคารพาณิชย์สิ้นปี 2564 มีทั้งสิ้นกว่า 1.13 ล้านล้านบาท หรือ 6% ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่หนี้เสียมีทั้งสิ้นกว่า 530,000 ล้านบาท หรือ 3% ของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์

ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่า หนี้เสีย 3 อันดับแรก กว่า 70% คือ หนี้เสียภาคการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (ที่อยู่ อาศัย-รถยนต์-บัตรเครดิต) 143,717 ล้านบาท หรือ 27% ของหนี้เสียทั้งหมด หนี้เสียภาคการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 126,326 ล้านบาท หรือ 24% ของหนี้เสียทั้งหมด หนี้เสียภาคการผลิต 116,927 ล้านบาท หรือ 22% ของหนี้เสียทั้งหมด ตามลำดับ

ส่วนหนี้นอกระบบที่ภาคเอสเอ็มอี ภาคแรงงาน และประชาชนทั่วไป มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ในระบบ 65% และเป็นหนี้นอกระบบ 35% โดย ปี 2551 หนี้นอกระบบเฉลี่ยต่อครัวเรือน 70,230 บาทต่อครัวเรือน เป็น 111,768 บาทต่อครัวเรือนในปี 2561 หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือน เป็นหนี้นอกระบบ (หนี้ครัวเรือน 316,623 บาทต่อครัวเรือน) ขณะที่ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แรงงาน และประชาชนที่ต้องเผชิญสภาพปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำกลับไม่ตอบสนองได้เพียงพอ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ 2 คือค่าครองชีพ และต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง กระทบครอบครัวยากจน 1.4 ล้านครัวเรือน กลไกราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นไม่ได้ กลับสะท้อนรายรับของเกษตรกร กลายเป็นภาระต้นทุนปัจจัยการผลิตพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ปุ๋ย ยา และอาหารสัตว์ที่ปรับราคาอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ค่าครองชีพ ปัจจัยเงินเฟ้อ 5% ยังเป็นสิ่งที่รุมเร้าให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ภาคแรงงาน ภาคเกษตรกร ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ส่วนปัจจัยที่ 3 ได้แก่ ขีดความสามารถของเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และแรงงานไทย การปรับตัวและสร้างระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพัฒนายกระดับขีดความสามารถภาคแรงงานนอกระบบ 20 ล้านราย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3.1 ล้านราย โดยเฉพาะรายย่อยกว่า 2.6 ล้านราย รวมทั้งแรงงานในภาคเอสเอ็มอีกว่า 12 ล้านคนที่ต้องเผชิญหน้ากับ Technology Disruption หากรวมจำนวนประชากรเหล่านี้เกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทย