แนวโน้มทองคำพุ่งได้อีกดัชนีทองคำ ต.ค. ดีดขึ้นแรง ผู้ค้าจับตาเฟด-พิษสงครามตะวันออกกลาง

214
0
Share:
แนวโน้ม ทองคำ พุ่งได้อีกดัชนีทองคำ ต.ค. ดีดขึ้นแรง ผู้ค้าจับตาเฟด-พิษสงครามตะวันออกกลาง

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือนตุลาคม 2566 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 จากระดับ 57.69 จุด มาอยู่ที่ระดับ 58.89 เพิ่มขึ้น 1.20 จุด หรือ คิดเป็น 2.07% สาเหตุมาจากเงินบาทอ่อนค่าหนุนราคาทองในประเทศ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาส 4 / 2566 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 /2566 จากระดับ 51.02 จุด มาอยู่ที่ระดับ 53.74 จุด เพิ่มขึ้น 2.72 จุด หรือคิดเป็น 5.34% โดยดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น สาเหตุมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

สำหรับคาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน ตุลาคม 2566 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 309 ราย ในจำนวนนี้ 133 ราย หรือเทียบเป็น 43% ซื้อทองคำ ส่วนจำนวน 122 ราย หรือเทียบเป็น 40% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้หรือไม่ และจำนวน 54 ราย หรือเทียบเป็น 17% ไม่ซื้อทองคำ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และ ผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้มี 6 ราย หรือเทียบเป็น 46% เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ตุลาคม 2566 จะเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวน 4 ราย หรือเทียบเป็น 31% คาดว่าจะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน กันยายน 2566 และจำนวน 3 ราย หรือเทียบเป็น 23% คาดว่าจะลดลง

อย่างไรก็ตาม คาดว่า กรอบราคาทองคำในเดือน ตุลาคม 2566 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,799–1,971 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31,900–33,600 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 35.91–37.35 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนทองคำในเดือน ตุลาคม 2566 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ราคาทองคำยังคงมีความผันผวน โดยหากราคาทองคําสามารถทรงตัวรักษาระดับไว้ได้ ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก และจะทําให้มีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามปัจจัยสำคัญต่างๆ เช่น ตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแนวโน้มการดําเนินนโยบายการเงินของ FED รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางอีกด้วย