แบงก์คาด เศรษฐกิจไทยปี 2566 โต 3.7% เงินเฟ้อจะเฉลี่ย2.7% รับอานิสงส์ท่องเที่ยวจีนฟื้น

337
0
Share:
แบงก์คาด เศรษฐกิจไทย ปี 2566 โต 3.7% เงินเฟ้อจะเฉลี่ย2.7% รับอานิสงส์ ท่องเที่ยว จีน ฟื้น

นายเอ็นริโก้ ทานูวิดฮาฮา นักเศรษฐศาสตร์ Global Economic and Market Research ของธนาคารยูโอบี เผยว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยเริ่มต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่กลับเข้ามาอีกครั้งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือว่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลดีให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่ดีจากภาคธุรกิจบริการที่เริ่มฟื้นตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ

ดังนั้นยูโอบีประเมินว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.7 และอัตราเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นผลจากรายได้ท่องเที่ยวที่เป็นแรงสนันสนุนหลักทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้มีความสดใส

นอกจากนี้ ผลพวงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางกลับมาเข้าอีกครั้งหลังจากนโยบายการเปิดพรมแดน จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งปีแรก ค่าเงินบาทอาจได้รับผลกระทบจากความท้ายทายของเศรษฐกิจโลกในระดับมหาภาค ทำให้เคลื่อนไหวอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนจะกลับมาแข็งแกร่งและไต่ระดับไปถึง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้โดยรวมภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่งจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่างๆโดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจหลักในประเทศ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยได้ขึ้นไปแตะที่จุดสูงสุดก่อนจะทยอยปรับระดับลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการฟื้นตัวของระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และ กระจายสินค้าของรายการอาหารบางชนิดที่ช่วยลดแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง สำหรับปี 2566 ยูโอบีประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยจะลอยตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) จะขึ้นไปแตะที่ร้อยละ 3.9 ในช่วงครึ่งปีแรก และจะคงค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ1.5 ในช่วงครึ่งปีหลัง จากความต้องการบริโภคที่ลดลงเพราะระบบห่วงโซ่อุปทานโลกปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์พลังงานและราคาสินค้าทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ที่ทรงตัว (moderate) และ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) จะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อนี้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินอยู่ที่ร้อยละ 2-3

ส่วนค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเอเชีย และกับดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยต่างๆเช่น การใช้นโยบายการเงินอย่างผ่อนปรนและยืดหยุ่นของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงระดับอัตราดอกเบี้ยทั่วภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และการเปิดพรมแดนของจีนจะช่วยบรรเทาความท้าทายเหล่านี้ และส่งผลให้ค่าเงินบาทยังสามารถรักษาระดับความแข็งแกร่งไว้ได้เมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยูโอบีประเมินว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะกลับมาเกินดุลอีกครั้งที่ร้อยละ 2.8 ของจีดีพี ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติมทำให้ค่าเงินบาทซึ่งอ่อนตัวและเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งปีแรก จะกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสสุดท้าย