แบงก์ชาติฟันธง เร่งฉีดวัคซีนกันโควิดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทัน ต้องถึงปี 2565

335
0
Share:

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยมุมมองภาะวะเศรษฐกิจไทยในหัวข้อ “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด” กล่าวว่า ภายใต้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อลดการระบาดโรคโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อโรคระบาดโควิด-19 ภายในประเทศนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า หากใช้มาตรการปิดล็อคดาวน์ ซึ่งสามารถควบคุม และลดการระบาดลงถึง 40%ได้ในเดือนสิงหาคม 2564 อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียหายราว 0.8%

แต่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ถึงแม้มีการใช้มาตรการการควบคุมที่เข้มงวด แต่กลับมีประสิทธิภาพในการดูแลอัตราการแพร่เชื้อลดลงได้เพียง 20% ซึ่งทำให้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อถึงปลายปีนี้ จะมีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเสียหายเพิ่มเป็น 2.0% สาเหตุจากประชาชนปิดล็อคดาวน์ตัวเอง ซึ่งเป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจยังไม่กลับมา

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมากว่าจะต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดเข้มงวดยาวนานแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการ และแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

อย่างไรก็ตาม  ผลสำรวจที่ผ่านมายังพบว่า ประชาชนยังกังวลใจ และไม่มั่นใจ โดยส่วนใหญ่มองว่า ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ลดลงมาก ก็จะออกมาใช้ชีวิตตามปกติในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า หรืออีก 1 ปีจากนี้ไป แต่สำหรับภาคธุรกิจนั้น มีความต้องการให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติเร็วที่สุด คือไตรมาสหนึ่งในปีหน้า

นอกจากนี้ แนวโน้มการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในไทยจะเลื่อนออกไป ซึ่งคาดว่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นภายในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2565 สาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงหลากหลายที่ยังมีอยู่ ได้แก่ ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่ยังขึ้นอยู่กับสูตรของการฉีดวัคซีน ความต้องการฉีดวัคซีนของประชาชน และจำนวนสต็อกของวัคซีน ซึ่งรวมถึงการได้รับวัคซีนที่ล้าช้า สิ่งสำคัญ คือพฤติกรรมของคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน หรือคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่การ์ดตก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมากที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และปี 2565 เช่น สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 การเปิดประเทศของประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจเผชิญปัญหาเดียวกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยังไม่มั่นใจที่จะเดินทาง นโยบายทางการคลังที่จะส่งเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ ความเปราะบางของภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนที่จะมีผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ