แบงก์ชาติยันเงินเฟ้อไทยแพงชั่วคราว ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยตามอเมริกา

403
0
Share:

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวเร็ว และการฟื้นตัวยังไม่กระจายตัว และทั่วถึง ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวตั้งแต่กลางปี 2564 โดยตลาดแรงงานร้อนแรง มีการเร่งขึ้นของการขึ้นค่าจ้าง และเผชิญเงินเฟ้อสูง ทำให้มีความเสี่ยงจึงต้องรีบปรับนโยบายเร็วขึ้น

สำหรับประเทศไทย ภายใต้เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ นั้น มองว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเกิดจากซัพพลายช็อกจากต่างประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งนโยบายการเงินสามารถมองทะลุผ่านไปได้ระดับหนึ่ง โดยสิ่งสำคัญ คือ ภาคเศรษฐกิจจริง จะเป็นการฟื้นตัวในประเทศ การใช้จ่ายในประเทศ และความเชื่อมั่น ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวไม่สะดุด ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่น่ากลัวและมีความท้าทาย จะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ไทยยังไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยตาม และเชื่อว่าจะกระทบต่อไทยไม่มาก เนื่องจากไทยมีความทนทานในด้านต่างประเทศค่อนข้างสูง โดยดูจากสัดส่วนหนี้ต่างประเทศค่อนข้างน้อย ทุนสำรองต่างประเทศสูง นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ค่อนข้างน้อย และค่าเงินค่อนข้างมีเสถียรภาพ (stable)

จึงเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐ จะไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออก เนื่องจากส่วนต่างดอกเบี้ยที่ก่างกันประมาณ 0.25-0.50% ไม่แตกต่างกันมาก และนักลงทุนจะมองเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางเป็นหลักมากกว่าการมองเรื่องของผลตอบแทน