แพคเกจไม่พอ! กสิกรไทยชี้แพคเกจเยียวยาเศรษฐกิจไทยไม่พอ ตกงานกระทบครัวเรือนไทยถึงครึ่งหนึ่ง

353
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนคนไทย เดือนเมษายน 2564 ลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 จาก 40.4 ในเดือนมีนาคม 2564 มีนัยต่อความเปราะบางของกำลังซื้อครัวเรือนจากจังหวะเวลาที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา และราคาพลังงานก็ปรับเพิ่มอย่างมาก โดยสะท้อนจากดัชนีที่ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะมุมมองต่อการมีรายได้และงานทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้

ทั้งนี้ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับทิศทางดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 8 ปี อยู่ที่ 3.41% ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงาน พบว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ครัวเรือนเกือบ 50% ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน โดย 90.3% มีรายได้ลดลง ขณะที่ 9.7% ขาดรายได้ ซึ่งผลสำรวจนี้ตอกย้ำถึงความกังวลที่มีเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับรายได้จากการจ้างงาน อันจะส่งผลให้กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง

สำหรับดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าก็ลดลงเช่นกันอยู่ที่ 39.4 จาก 41.5 ในเดือนมีนาคม 2564 สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน รวมถึงตลาดแรงงานในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้นกำลังซื้อของครัวเรือนจะถูกกระทบอย่างมาก ในขณะที่ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางลงเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาจากการระบาดในครั้งก่อนๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอยู่บ้างแต่ขนาดไม่เท่ากับมาตรการเยียวยาในรอบเดือนเม.ย.-พ.ค. 2563 ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจึงมียังความจำเป็น และอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ ครม. มีมติในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา