แพทย์ชี้ควรชะลอฉีดวัคซีนโควิดแอสตราเซเนก้าไป 1- 2 สัปดาห์

851
0
Share:

ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แถลงข่าวกรณีเลื่อนการฉีดวัคซีน แอสตราเซเนก้า ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย มีเป้าหมายคือวัคซีนที่จะให้กับประชาชนจะต้องปลอดภัย ดังนั้นเมื่อมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน ก็ไม่จำเป็นต้องรีบฉีดวัคซีน แม้ทางบริษัทแอสตราเซเนก้ายืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและปลอดภัย ฉีดไปทั่วโลกแล้วกว่า 34 ล้านโดส แต่เมื่อมีคำแนะนำให้ชะลอก่อน ไทยก็ควรชะลอการให้วัคซีนไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก รายงานผลการสืบค้นชัดเจนก่อนว่า อาการลิ่มเลือดที่เกิดขึ้น เกิดจากการฉีดวัคซีนโดยตรงหรือไม่ หากผลการตรวจสอบไม่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จะเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนต่อไป
.
ด้านศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า แอสตราเซเนก้า ส่งวัคซีน ABB 5300 จำนวน 1 ล้านโดส ให้ 17 ประเทศในสหภาพยุโรป และมีการทยอยฉีด ผลปรากฏว่า เดนมาร์กพบผู้เสียชีวิต 1 คน ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยหลายคนเกิดลิ่มเลือดขึ้นตามหลอดเลือดต่าง ๆ หลังรับวัคซีน ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ได้สรุปว่าเกิดขึ้นจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ด้วยกระบวนการด้านความปลอดภัยจะมีการประกาศชะลอการฉีดวัคซีนไปก่อน 2 สัปดาห์เพื่อสืบค้น ต่อมาไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ ประกาศชะลอการใช้วัคซีนโควิด-19 แม้ไม่ได้เกิดลิ่มเลือดในผู้รับวัคซีน แต่เพื่อติดตามผล และรอการสืบค้น ขณะที่ european medicines agency (EMA) ออกประกาศว่า ไม่ได้เป็นองค์กรที่ประกาศให้หยุดใช้วัคซีนแอสตราเซเนก้า ยังยืนยันวัคซีนนี้ปลอดภัย แต่จะไปสืบค้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ เมื่อข้อมูลพร้อมจะกลับมาใช้อีกครั้ง
.
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การชะลอให้วัคซีนแอสตราเซเนก้า ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนไม่ดี หรือมีปัญหา แต่เป็นการชะลอเพื่อรอผลตรวจสอบให้ชัดเจน รวมทั้งวัคซีนแอสตราเซเนก้าในยุโรปนั้น เป็นส่วนที่ผลิตในยุโรป ส่วนของไทยผลิตในเอเชีย รวมทั้งไทยไม่ใช่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอฉีดออกไป 5-7 วัน หรือ 2 สัปดาห์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากนั้น จึงควรชะลอออกไปก่อน ไม่ใช่ยุติการฉีด