แรงงานอาชีวะขึ้นแท่นมนุษย์ทองคำในจีน ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเมินรับจบปริญญาตรี

256
0
Share:
แรงงานอาชีวะ ขึ้นแท่นมนุษย์ทองคำใน จีน CATL ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเมินรับจบปริญญาตรี

บริษัท คอนเทมโพรารี แอมเพอร์เร็กซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ CATL ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดเผยโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทดังกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีในจีนแผ่นดินใหญ่มีความต้องการแรงงานทักษะเฉพาะทางมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานที่จบระดับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะระดับปริญญาตรี

นับตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2022 บริษัท CATL จ้างพนักงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าภายในช่วงเวลา 3 ปีดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนพนักงานมากถึง 118,914 คนในปี 2565 ที่น่าสนใจ คือ พนักงานเกือบ 80% ล้วนมีวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรีทั้งสิ้น

ในขณะที่ บริษัทเซมิคอนดัคเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น หรือ SMIC ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่ที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่แห่งหนึ่งของจีน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพนักงานด้านสายงานวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ภายใน 2 ปีผ่านมา หรือนับตั้งแต่ปี 2021 ที่ 2,283 คนเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ พนักงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโทอยู่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม พนักงานที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษา หรือต่ำกว่ามหาวิทยาลัยกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งตรงกันข้ามกับพนักงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ลดลงถึง 8% นั่นหมายความว่า ตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีในจีนแผ่นดินใหญ่เน้นรับสายอาชีวะมากกว่าผู้จบปริญญาตรีอย่างชัดเจน หรืออาจมองได้ว่า ปริญญาตรีไม่มีความจำเป็น หรือความสำคัญกับธุรกิจเทคโนโลยีของจีนอีกต่อไป

สถานการณ์การจ้างงานในจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนแปลงไปมากจนส่งผลกระทบถึงทัศนคติที่ว่า ค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนโดยเฉพาะพ่อแม่หลายคนต้องการให้ลูกมีการศึกษาอย่างน้อยระดับปริญญาตรี ดังนั้น แรงงานชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญภาคปฏิบัติในเฉพาะทาง กลับกลายเป็นที่ต้องการมาก แม้ว่าจะไม่มีวุฒิปริญญาก็ตาม แม้แต่ทักษะการควบคุมระบบหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอีกหนึ่งทักษะที่ตลาดแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ

กระทรวงแรงงานจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดเผยว่า ตำแหน่งงานเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมในปี 2565 พบว่า อันดับ 1 พนักงานขาย ซึ่งเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการมากที่สุด อันดับ 2 พนักงานผลิตรถยนต์ และแรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ติด 1 ใน 100 ตำแหน่งแรกที่ตลาดต้องการมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ค่านิยม ทัศนคติ และมุมมองของพนักงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ถูกกำหนดมาเป็นเวลานานว่ามีระดับที่ดีกว่า โดยสตีเฟน บิลเล็ตต์ ศาสตราจารย์ด้านอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยกริฟฟิฟท์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า สังคมมักมองว่าการศึกษาสายสามัญดีกว่าสายอาชีวะ เนื่องจากดูมีระดับมากกว่า จึงเป็นความท้าทายที่จะเปลี่ยนกรอบความคิดแบบนี้ และเป็นความท้าทายอย่างมากในการหาวิธีปรับปรุงระบบอาชีวศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น