แห่เทบาท! ปัจจัยลบในไทยฉุดขายเงินบาทดิ่งอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน

200
0
Share:
แห่เทบาท! ปัจจัยลบในไทยฉุดขาย เงินบาท ดิ่งอ่อนค่าในรอบ 4 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 4 เดือน ที่ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันนี้ (28 มิ.ย.66) ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 35.34-35.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (09.40 น.) เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินหยวน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่ที่ออกมาดีกว่าที่คาด หนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ในการประชุม FOMC เดือน ก.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 35.15-35.45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทเช้านี้ ยังอ่อนค่าต่อเล็กน้อย ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น หลังพรรคก้าวไกลแถลงเลื่อนการประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวเลขส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัว 4.6% ซึ่งดีกว่าที่ตลาดคาดหดตัวที่ 8.0% แต่ก็ยังไม่ช่วยให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้บ้าง และอาจมีการขยับโซนในการแกว่งตัวที่สูงขึ้น หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านแรกแถว 35.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ไปได้ ทั้งนี้ หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดต่างก็รอติดตามปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งสหรัฐ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ในช่วงท้ายสัปดาห์

ทั้งนี้ เงินบาทอาจจะยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจนได้ในระยะสั้น จนกว่าจะเห็นการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือสถานการณ์การเมืองไทยเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาล (ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง) นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์ฯ หรือสกุลเงินต่างประเทศจากบรรดาผู้นำเข้า ซึ่งเบื้องต้นเรามองว่า แนวรับแรกของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 35.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เราคงคำแนะนำว่าในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทย และการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน