แอสตราเซเนกาทดลองประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิดใหม่ ขณะที่ไทยลงนามซื้อแล้ว

693
0
Share:

ภายหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน กับบริษัทแอสตราเซเนกา บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ภายใต้วงเงินงบประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับวัคซีนช่วงกลางปีหน้าชุดแรกจำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งนายกฯระบุว่าไทยจะเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่ได้ใช้งานวัคซีนต้านโควิด
.
แต่ล่าสุดเดอะการ์เดียน รายงานว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด จะทำการทดลองเพิ่มเติมหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน
.
โดยในตอนแรกบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเผยผลการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเฉลี่ย 70% แต่ภายหลังได้ออกมาประกาศว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครึ่งโดส ส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ รวมทั้งนักวิเคราะห์รายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าวัคซีนดังกล่าวจะไม่ได้รับอนุญาตในสหรัฐ และกล่าวหาว่าบริษัทผู้ผลิตพยายามโกงประสิทธิภาพของวัคซีน
.
โดย จอห์น เบลล์ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ของออกฟอร์ดและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว และยืนยันว่าผลลัพธ์ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นเกิดจากการทดลองจริงไม่ได้มีการโกงแต่อย่างใด และข้อมูลทั้งหมดคาดว่าจะได้รับการตีพิมพ์ลงบนวารสารการแพทย์แลนซิตในสุดสัปดาห์นี้
.
ขณะที่ ปาสคาล โซเรียต ประธานกรรมการบริหารของแอสตราเซนเนกาเผยว่า จะทำการทดลองวัคซีนใหม่โดยให้วัคซีนในโดสที่ต่ำลงเพื่อประเมินว่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการให้วัคซีนเต็มโดสหรือไม่ อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าการทดสอบครั้งใหม่จะไม่ทำให้การอนุมัติวัคซีนในยุโรปล่าช้าลง
.
ด้าน แมตต์ ฮานค็อก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้หน่วยงานกำกับดูแลยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการอนุมัติวัคซีน ทำการประเมินวัคซีนอย่างเป็นทางการ เพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและพิจารณาว่าวัคซีนดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่