โควิดขาลง! ยอดติดโควิด-19 ในสหรัฐต่ำสุด 3 เดือน

490
0
Share:

มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ้อพกิ้นส์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในรอบ 24 ชั่วโมงถึงวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา) มีจำนวนต่ำกว่า 65,000 ราย โดยอยู่ที่ 64,938 ราย ทำสถิติจำนวนผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 รายวันที่ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หรือนับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งในวันนั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่ 62,020 ราย นอกจากนี้ อัตราการติดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคิดเฉลี่ย 7 วันติดต่อกัน พบว่าลดต่ำลงกว่า 1,000 รายต่อวัน ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง หรือนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา
.
สำหรับอัตราผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาลดต่ำลงถึง 33 วันติดต่อกันด้วย อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวยังคงมีผู้ป่วยมากกว่า 67,000 รายในโรงพยาบาล ซึ่งยังคงสูงกว่าในช่วงฤดูร้อนเมื่อปี 2563 พร้อมๆกับจำนวนผู้ป่วยโรคระบาดโควิด-19 เสียชีวิตนั้น มีตัวเลขที่ลดลง โดยมีอัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตอยู่ที่ 2,500 รายต่อวัน ซึ่งลดต่ำลงในรอบ 1 เดือนกว่า หรือนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
.
สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและติดสะสม ผู้เสียชีวิตรายวันและสะสม มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกนั้น แพทย์และผู้เชียวชาญจากหลากหลายสถาบันมีความเห็นแตกต่างกัน โดยพบว่าอาจเป็นผลจากการเร่งฉีดวัคซีนในสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 รวมมากกว่า 53 ล้านคน ในขณะที่มีอีกส่วนหนึ่งยังสงสัยในคุณภาพวัคซีน แต่กลับให้น้ำหนักไปที่มาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มข้นมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
.
มหาวิทยาลัยจอห์น ฮ้อพกิ้นส์ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยต่อไปว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2021 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ 15 กุมภาพันธ์ (ตามเวลาสหรัฐอเมริกา) มีสถิติสูงสุดของตัวชี้วัดแต่ละประเภท ได้แก่ วันที่ 2 มกราคม เป็นวันที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันมากที่สุดที่ 300,282 ราย วันที่ 6 มกราคม เป็นวันที่มีอัตราผู้ติดเชื้อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากที่สุดเป็นจำนวน 132,474 ราย และวันที่ 20 มกราคม เป็นวันที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันมากที่สุดที่ 4,409 ราย
.
ด้านองค์กรบริการสาธารณสุขที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศอิสราเอล ซึ่งมีชื่อว่า คลาลิท เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบออนเทคให้กับประชาชนชาวอิสราเอล จนได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเร็วที่สุดในโลกนั้น พบว่า เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม สามารถลดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีการแสดงอาการ ได้ผลถึง 94% นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันการพัฒนาอาการป่วยอย่างรุนแรงในตัวผู้ป่วยทุกช่วงอายุได้ดี คลาลิททำการติดตามผลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคจาก 2 กลุ่มๆละ 600,000 ราย ซึ่งมีกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน และกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ซึ่งเปรียบเทียบในอายุเท่ากัน และสภาพร่างกายที่เหมือนกันด้วย เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำ
.
นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO อนุมัติวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า เพื่อการใช้ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ได้อนุมัติวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ร่วมผลิตกับบริษัทเวชภัณฑ์เอสเคไบโอในประเทศเกาหลีใต้ และสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย หรือ SII ที่ประเทศอินเดีย
.
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวต่อไปว่า WHO ต้องการให้ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ส่งข้อมูลการผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 มาให้พิจารณาเพื่ออนุมัติการใช้งานฉุกเฉินมากขึ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นในการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน