โควิดนิ่ง-โรคไม่ติดเชื้อดันตลาดยาในไทยปีเสือพุ่งกว่า 230,000 ล้านบาท โตอีกเกือบ 5%

463
0
Share:
ตลาดยา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและกำลังซื้อของครัวเรือน สวนทางกับค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ น้ำมันพืช อุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสำคัญของธุรกิจ Healthcare ซึ่งมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา โดยมูลค่าการนำเข้ายาของไทยในปี 64 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 13.0% จากปี 63 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการนำเข้ายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้สถานการณ์การระบาดจะมีสัญญาณดีขึ้น จนอาจทำให้ความต้องการยาดังกล่าวปรับตัวลดลง แต่ในทางกลับกัน ก็อาจทำให้คนไข้ไทยกลุ่มเดิมที่รักษาโรคทั่วไป และคนไข้ต่างชาติบางกลุ่มทยอยกลับมาใช้บริการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ในขณะที่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ปัจจัยข้างต้นน่าจะยังหนุนให้มูลค่าตลาดยาในประเทศปี 65 อยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 3.0-5.0% เมื่อเทียบกับปี 64 ที่ขยายตัว 2.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การจำหน่ายผ่านช่องทางโรงพยาบาลรัฐ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพิงสวัสดิการรักษาพยาบาลของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าขายยารายย่อยต้องเผชิญการแข่งขันจากการเติบโตของร้านขายยาแฟรนไชส์และการขยายจุดจำหน่ายยาของห้างค้าปลีก ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับยาต้นตำรับ (Original Drugs) ต่อยาชื่อสามัญ (Generic Drugs) มีสัดส่วนประมาณ 45:55 ของค่าใช้จ่ายยาในประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดยาในประเทศน่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิต/นำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมูลค่าตลาดยากว่า 70% ของมูลค่าตลาดยาทั้งหมดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่คุณภาพและมาตรฐานของการผลิต การสร้างความเชื่อมั่นหรือการยอมรับให้กับผู้ใช้ ตลอดจนการทำการตลาดให้หันมาใช้ยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยอาจจะเริ่มจากยาชื่อสามัญที่ไทยพอจะมีศักยภาพในการผลิตได้ ในขณะที่ยาต้นตำรับ อาจยังต้องพึ่งพาการนำเข้า เนื่องจากต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่ใช้ระยะเวลานานและเงินลงทุนสูง