โควิด-19 พันธ์ุโอไมครอนในไทยอาจทำยอดเคลมประกันพุ่งกว่า 1 แสนล้านบาท

434
0
Share:

บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ได้เปิดเผยรายงานการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า โอไมครอนสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่าเดลต้าประมาณ 3-4 เท่า และมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ถึง 5.4 เท่า ภาวะการระบาดที่รวดเร็วดังกล่าวทำให้สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประเมินว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2564 ธุรกิจประกันวินาศภัยจะมีค่าใช้จ่ายประเภทค่าสินไหมประกันภัยโรคระบาดโควิด-19 ประมาณ 40,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบด้วยประเภทเจอจ่ายจบ ที่มีสูงถึง 34,000 ล้านบาท

ในระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่เพียงผู้มีประกันภัยโรคระบาดโควิด-19 มีอัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ที่ 3.8% แต่กรมธรรม์โรคระบาดโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบยังมีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันโรคระบาดโควิด-19 ในระดับสูงอยู่ที่ 4.2% อีกด้วย ที่สำคัญความคุ้มครองมีถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ทำให้กลายเป็นความน่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยอาจจะต้องแบกรับค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีมูลค่าสูงกว่าค่าสินไหมที่เกิดขึ้นจากการระบาดในรอบผ่านมา ๆ หลายเท่าตัว

บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายงานนี้ได้ประมาณการ พบว่า หากมีการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนต่อเนื่อง ค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโรคระบาดโควิด-19 อาจสูงถึง 110,000-180,000 ล้านบาท

อัตราการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของผู้มีประกันโรคระบาดโควิด-19 โดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 3.8% เป็น 4.2% นั่นหมายความว่า จะมีอัตราเท่ากับอัตราการติดเชื้อของผู้ถือกรมธรรม์เจอจ่ายจบของบริษัทประกันวินาศภัยที่อยู่ใน 5 อันดับแรกของบริษัทที่รับประกันเจอจ่ายจบ

รายงานนี้ วิเคราะห์ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 สามารถเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทลให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ผู้ป่วยที่เข้า home isolation และ community isolation เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวัน
การประมาณการค่าสินไหมกรณีแรกนี้จะอยู่ระหว่าง 134,726-179,634 ล้านบาท อัตราการระบาดเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าคิดเป็น 300-400% เป็นค่าสินไหมเจอจ่ายจบ 112,737-150,316 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาล/โคม่า/ค่าชดเชยรายวัน 21,989-29,319 ล้านบาท

ในกรณีที่ 2 จำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามและฮอสพิเทล มีอยู่อย่างจำกัดโดยเท่ากับช่วงระบาดของเดลต้า และสำนักงาน คปภ.ไม่ออกคำสั่งนายทะเบียนให้ผู้ป่วยที่เข้า home isolation
และ community isolation เบิกค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันได้ ในกรณีนี้ประมาณการค่าสินไหมจะอยู่ระหว่าง 120,529-158,108 ล้านบาท อัตราการระบาดเทียบเดลต้าคิดเป็น 300-400% เป็นค่าสินไหมเจอจ่ายจบ 112,737-150,316 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาล/โคม่า/ค่าชดเชยรายวัน 7,792-7,792 ล้านบาท